สำหรับประเทศที่มีประชากรน้อยกว่า 3 ล้านคน และสำหรับกุนซือที่แม้จะอายุ 56 ปี แต่ไม่เคยคุมสโมสรที่มีชื่อเสียงมาก่อน โดยทั้ง โครเอเชีย และ ซลัตโก ดาลิตช์ ก็ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อในฟุตบอลโลก
หลังจากสร้างความประหลาดใจให้กับหลาย ๆ คนด้วยการไปถึงรอบชิงชนะเลิศของฟุตบอลโลก 2018 ก่อนจะพ่ายให้กับ ฝรั่งเศส 2-4 โครเอเชีย ก็กลับมาโชว์ฟอร์มได้โดดเด่นอีกครั้งในฟุตบอลโลก 2022 โดยพวกเขาเซอร์ไพรส์คนทั้งโลกด้วยการดวลจุดโทษชนะเต็งหนึ่งอย่าง บราซิล ไปในรอบก่อนรองชนะเลิศ
ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาจะไปได้ไกลแค่ไหนนับจากนี้ แต่เกมถัดไปของทีมตราหมากรุกคือการไปพบกับ อาร์เจนตินา ของ ลีโอเนล เมสซี ในเกมรอบรองชนะเลิศคืนนี้
และแน่นอนว่าพวกเขาจะมาไกลขนาดนี้ไม่ได้เลย ถ้าหากขาดกุนซือที่ชื่อว่า ซลัตโก ดาลิตช์ ไป แต่เขาเป็นใครมาจากไหน และเคยคว้าแชมป์รายการไหนบ้าง ติดตามได้ที่นี่
กุนซืออย่าง ซลัตโก ดาลิตช์ คือใคร?
ดาลิตช์ เป็นกุนซือของโครเอเชียมาเป็นเวลากว่า 5 ปี แล้ว และเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการพาลูกทีมของเขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศเป็นอย่างน้อยในฟุตบอลโลก 2 สมัยติด เขาได้รับเครดิตมากมายจากสปิริตการต่อสู้ของทีมในทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ แม้ว่าเขาจะไม่เหมือนโค้ชคนอื่น ๆ ในฟุตบอลโลก แต่เขาก็พอใจที่จะเป็นแบบนี้
เขาพูดด้วยความมุ่งมั่นหลังคว้าชัยในการดวลจุดโทษเหนือ บราซิล ซึ่งสะท้อนถึงความภาคภูมิใจในชาติของเขา อย่างไรก็ตาม เขาเกิดในบอสเนีย (ในตอนนั้นเป็น สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย เมื่อปี 1966) โดยเขามาจากครอบครัวชาวบอสเนีย-โครแอต และถือสัญชาติโครเอเชีย
ประวัติการคุมทีมของ ซลัตโก ดาลิตช์
ก่อนรับงานกับทีมชาติในปี 2017 ในฐานะผู้จัดการทีมแทบไม่มีใครรู้จัก ดาลิตช์ ในเวทีระดับนานาชาติเลย อาชีพโค้ชของเขาในตอนนั้นได้ร่วมงานกับทั้งสโมสรจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยอดีตกองกลางรายนี้เริ่มต้นการคุมทีมกับสโมสรที่เขาเคยลงเล่นให้อย่าง วาร์เท็กซ์ เป็นทีมแรก
นอกจากนี้เขายังได้คุมทีมอย่าง ดินาโม ติรานา สโมสรในแอลเบเนีย ซึ่งเขาคว้าถ้วย แอลเบเนีย ซูเปอร์คัพ มาให้กับสโมสรได้ ส่วนสโมสรในโครเอเชียทีมอื่น ๆ ที่เขาเคยคุมนอกจาก วาร์เท็กซ์แล้วก็จะมีทีมอย่าง ริเยกา และ สลาเวน เบลูโป
ถ้วยแชมป์ที่ได้
- แอลเบเนียน ซูเปอร์คัพ (2008), ดินาโม ติรานา
- ซาอุดี ปรินซ์ คัพ (2012-13). อัล-ฮิลาล
- ยูเออี เพรสซิเดนท์ส คัพ, โปรลีก และ ซูเปอร์ คัพ (2013, 2014, 2015), อัล-ไอน์
สถิติของ ซลัตโก ดาลิตช์ ในการคุม โครเอเชีย
ตลอด 68 เกมที่เขาคุมทีมชาติ สถิติของ ดาลิช นั้นแข็งแกร่งแต่ก็ไม่หวือหวา เหมือนกับสไตล์ฟุตบอลที่ทีมของเขาเล่น เขาชนะเกือบสองเท่าของเกมที่เขาแพ้ ด้วยผลต่างประตูได้เสียที่เป็นบวก
แม้จะทำผลงานได้ดีในฟุตบอลโลกทั้ง 2 ครั้ง แต่ โครเอเชีย ก็ตกชั้นจาก ยูฟ่า เนชันส์ ลีก เอ ในปี 2018 หลังจากนั้นพวกเขาผ่านเข้ารอบน็อคเอาท์ของฟุตบอลโลกยูโร 2020 ในฐานะแชมป์กลุ่ม ก่อนที่จะถูก สเปน เขี่ยตกรอบ 5-3 ในช่วงต่อเวลาพิเศษของรอบ 16 ทีมสุดท้าย
ในฟุตบอล เนชันส์ ลีก ปี 2020-21 โครเอเชีย ทำผลงานได้ย่ำแย่อีกครั้ง โดยเลี่ยงการตกชั้นได้อย่างหวุดหวิดเนื่องจากผลต่างประตูได้เสียที่น้อยกว่าของ สวีเดน แต่ โครเอเชีย ก็เสียประตูมากกว่าทีมอื่น ๆ ในการแข่งขันครั้งนั้น และมีเสียงเรียกร้องจากบางคนให้ ดาลิช ลงจากตำแหน่ง
เกม | ชนะ | เสมอ | แพ้ | ประตูได้ | ประตูเสีย |
---|---|---|---|---|---|
68 | 33 | 18 | 17 | 111 | 82 |
แท็คติคและสไตล์การคุมทีมของ ซลัตโก ดาลิตช์
นับตั้งแต่เป็นกุนซือของโครเอเชีย ดาลิช ชอบใช้แผน 4-3-3 เป็นหลัก ซึ่งเขาก็ใช้ดาวเด่นของทีมอย่าง ลูกา โมดริช ยืนเป็นผู้เล่นหมายเลข 10 เพื่อดันเกมรุกให้เข้าใกล้แดนคู่ต่อสู้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งดึงเขาให้ไปเล่นเป็นกองกลางตัวคุมเกมก็เป็นอีกบาทบาทที่เขาชอบใช้งานกองกลางรายนี้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โมดริช มักได้เล่นเป็นกองกลางตัวต่ำหรือกองกลางตัวคุมเกมอย่างที่กล่าวไป ซึ่งขนาบข้างไปกับนักเตะอีก 2 คนอย่าง มาร์เซโล โบรโซวิช และมาเตโอ โควาซิช
ในทัวร์นาเมนต์สำคัญ โครเอเชีย ของ ดาลิช มีชื่อเสียงจากสไตล์การเล่นฟุตบอลที่เน้นเกมรับเป็นหลัก ซึ่งมักถูกตำหนิว่าเป็นสไตล์ที่เน้นการป้องกันที่มากเกินไป
และอย่างที่ทราบกันว่าการยื้อไปถึงช่วงต่อเวลาพิเศษและการดวลจุดโทษเป็นสิ่งที่เขาถนัด ซึ่งวิธีนี้ก็ใช้ได้ผลมาแล้วทุกครั้งตั้งแต่รอบน็อคเอาท์ของฟุตบอลโลก 2018 จนมาถึงในทัวร์นาเมนต์นี้ (กับเดนมาร์ก, รัสเซีย และอังกฤษ ในปี 2018; ญี่ปุ่น และบราซิล ในปี 2022)
มันเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูง แต่มันก็ได้ผลสำหรับเขา ดังนั้นเขาคงไม่เปลี่ยนวิธีการเล่นอย่างแน่นอน
NBA LEAGUE PASS สมัครเพื่อชมการแข่งขันเอ็นบีเอสดทุกนัดคลิก