เงินไปอยู่ที่ไหน : ทำไมเสื้อบอล 1 ตัวถึงมีราคาแพง?

04-20-2024
3นาทีที่อ่าน
Getty

ในทุกๆ 2 วินาที จะมีคนซื้อเสื้อบอล 1 ตัว และสถิตินี้ยังนับแค่บรรดา 10 สโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรป ไม่รวมถึงสโมสรอื่นๆ อีกมากมายที่แฟนบอลทั่วโลกต่างจับจ่ายซื้อขายกันไม่เว้นแต่ละวัน

ธุรกิจเสื้อบอลเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และเติบโตขึ้นทุกวัน เสื้อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในทุกวันนี้ แพงกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วถึงราวๆ 3 เท่า

แล้วทำไมมันถึงได้มีราคาแพงขนาดนี้? สโมสรฟุตบอลกำลังขูดรีดขูดเนื้อเรารึเปล่า? ใครเป็นคนได้กำไรสูงสุดจากการขายเสื้อฟุตบอลสักตัว? ติดตามได้ที่นี่

ที่มาของเสื้อบอล

ก่อนจะไปถึงราคาของเสื้อบอลในปัจจุบัน เราควรต้องรู้เสียก่อนว่า เสื้อบอลมีที่มาจากไหน? กว่าจะมาเป็นเสื้อบอลแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ มันมีที่มาที่ไปอย่างไร?

ในตอนแรกเริ่ม ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ไม่มียูนิฟอร์มชัดเจน แต่ละคนต่างก็แต่งตัวตามที่ตัวเองพึงพอใจ และแบ่งทีมกันด้วยการใส่หมวกหรือผ้าพันคอด้วยสีที่แตกต่างกันเท่านั้น ก่อนที่จะเริ่มมีสีประจำทีม, ตราสโมสรบนหน้าอก และเบอร์เสื้อข้างหลังเพื่อให้แยกแยะนักเตะในสนามได้ง่ายขึ้นในเวลาต่อมาไม่นาน

เสื้อบอลคงอยู่ในสภาพนั้นมานานเกือบศตวรรษ จนกระทั่งในปี 1973 Eintracht Braunschweig ของเยอรมัน กลายเป็นทีมแรกที่มีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ โดยรับเงินจาก Jägermeister แบรนด์เครื่องดื่มท้องถิ่นในราคา 100,000 มาร์ค (เทียบเป็นเงินไทยในปัจจุบันราวๆ 2 ล้านบาท)

ไอเดียทำเงินรูปแบบใหม่นี้ที่กลายเป็นมูลค่าหลักพันล้านบาทในปัจจุบัน ไม่ค่อยได้รับการยอมรับมากนักในช่วงแรก พวกเขาถูกวิจารณ์อย่างหนัก ถึงขึ้นที่ BBC เคยปฏิเสธที่จะถ่ายทอดสดเกมที่มีสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ และบีบให้สโมสรถอดสปอนเซอร์บนหน้าออกเสื้อออกไป

ความนิยมที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของฟุตบอลในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้เสื้อบอลไม่เพียงกลายเป็นอัตลักษณ์ที่แฟนบอลนิยมใส่เข้าเชียร์ในสนาม เพื่อบ่งบอกถึงตัวตนของตัวเองว่าเชียร์ทีมไหน มันยังกลายเป็นแฟชันที่ทุกวันนี้คนสามารถใส่ไปเที่ยว ไปเดินห้าง ไปจนถึงอยู่บนเวทีแฟชันโชว์ได้อย่างไม่มีขัดเขิน

แบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย อาทิ ไนกี้, อดิดาส, พูมา ล้วนแล้วแต่พยายามยื่นข้อเสนอเพื่อเซ็นสัญญากับสโมสรระดับท็อปของโลกทั้งหลาย เพื่อให้มาใช้สินค้าของพวกเขา และทำเงินได้มหาศาลจากการซื้อหามาครอบครองโดยแฟนบอล

Getty

เสื้อบอลทุกวันนี้ ราคาแพงจริงหรือ?

โดยเฉลี่ยในทางสถิติ เสื้อฟุตบอลทุกวันนี้ แพงกว่าเสื้อฟุตบอลเมื่อ 30 ปีที่แล้ว อยู่ประมาณ 3 เท่า หากดูแค่ตัวเลข เราอาจรู้สึกตกใจว่าทำไมราคามันถึงได้ดีดพุ่งแรงขนาดนี้

อย่างไรก็ดี ความลับเบื้องหลังราคามหาโหดนี้อยู่ที่คำศัพท์คำเดียวในทางเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ เงินเฟ้อ

จากข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยนับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ราวๆ 2.8% ต่อปี ถ้าคิดกันแบบง่ายๆ เงิน 30 ยูโร (1,178.98 บาท) ในวันนั้น จะมีค่าเท่ากับ 70 ยูโร (2,750 บาท) ในทุกวันนี้ ซึ่งก็จะใกล้ๆ กับเงินที่เราใช้จ่ายเพื่อซื้อเสื้อเกรดแฟนบอล (Replica) ในปัจจุบัน

ไม่ได้จะบอกว่าเงินหลักเกือบๆ 3 พันบาทนั้นมันถูก ตัวเลขนี้แค่บ่งบอกว่า เสื้อบอลมันก็ราคาแพงอยู่แบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรเท่านั้นเอง

Scroll to Continue with Content

เสื้อฟุตบอล 1 ตัวต้นทุนกี่บาท?

ดร.ปีเตอร์ โรห์ลมันน์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Sport Marketing ชาวเยอรมัน เคยออกมาเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วต้นทุนการผลิตเสื้อเกรดแฟนบอล ใช้เงินเพียงแค่ 8.60 ยูโร เท่านั้น (ประมาณ 337 บาท) หรือคิดเป็น 10% ของราคาเสื้อแข่ง โดยเงินจำนวนดังกล่าว เป็นค่าวัสดุ, ค่าแรง (ในเอเชีย) และค่าขนส่ง

อย่างไรก็ดี ส่วนต่างอีก 90% ของราคาขาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นรายได้ของบริษัทผู้ผลิตเสื้อโดยตรงแบบเนื้อๆ เน้นๆ เพราะยังต้องมีค่าใช้จ่ายเบี้ยบ้ายรายทางอีกหลายอย่าง ซึ่ง ดร.ปีเตอร์ โรห์ลมันน์ ได้แบ่งสัดส่วนออกมาไว้ดังนี้

  • พ่อค้าปลีก (ร้านค้าต่างๆ รวมถึงร้านขายสินค้าของสโมสร) 39.64 ยูโร (1,557 บาท)
  • ภาษี 14.36 ยูโร (564 บาท)
  • ค่าลิขสิทธิ์ที่สโมสรหรือสมาคมฟุตบอลต่างๆ จะได้รับ 5.50 ยูโร (216 บาท)
  • ค่าการตลาด 2.60 ยูโร (102 บาท)
  • ค่าใช้จ่ายในการกระจายสินค้า 2.25 ยูโร (88 บาท)

เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งมวลแล้ว บริษัทผู้ผลิตจะได้กำไรเหลืออยู่ราวๆ 17 ยูโร ต่อเสื้อเกรดแฟนบอล 1 ตัว (668 บาท) ซึ่งก็ยังถือเป็นตัวเลขที่สูงไม่ใช่ย่อย แต่อย่าลืมว่าบริษัทผู้ผลิตเสื้อยังต้องแบกรับความเสี่ยงที่ตามมา เช่น สินค้าที่เหลือค้างสต๊อค, สินค้าที่เสียหาย ไปจนถึงกิจกรรมโปรโมชันลดราคาอื่นๆ 

ตัวเลขทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่การสรุปแบบคร่าวๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเห็นภาพรวมเท่านั้น เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ทำไว้ระหว่างสโมสรกับผู้ผลิตอยู่อีกหลายอย่าง

Getty

สาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมเสื้อบอลราคาแพง?

ไม่ว่าใครจะมองว่าถูกหรือแพง เบื้องหลังของราคามหาโหดนี้คืออะไร? หรือใครเป็นคนได้เงินก้อนโตนี้ไปมากที่สุด? เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งง่ายๆ ก่อนเลยว่า เราจ่ายเงินเพื่อซื้อเสื้อบอลถูกลิขสิทธิ์สักตัวในราคาที่สูงกว่าเสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ตทั่วๆ ไปอยู่มาก

คำตอบแบบกำปั้นทุบดินสำหรับเรื่องนี้ก็คือ มันเป็นความต้องการของแฟนบอล แม้ในปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตเสื้อจะแยกเสื้อเป็นเกรดนักเตะและเกรดแฟนบอล เพื่อให้ราคาของเสื้อสำหรับแฟนบอลนั้นถูกลงจนสามารถซื้อหามาครอบครองได้ง่ายขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีแฟนบอลอีกจำนวนมากที่ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อหาเสื้อเกรดนักเตะมาครอบครอง ด้วยความคิดว่าจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับนักเตะในสนามมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีตลาดเสื้อนักเตะย้อนยุค เสื้อแมตช์วอน (เสื้อที่นักเตะสักคนใส่แข่งในสนาม) ที่มีกลุ่มนักเล่น นักสะสม อยู่เป็นจำนวนมาก จนมูลค่าของเสื้อแต่ละตัวที่ถูกประมูลหรือขายออกมา แพงจนคนนอกวงการขยี้ตาสักสามครั้ง ก็ยังทำใจเชื่อได้อยากอยู่ดี

ทั้งหมดนี้มีเหตุผลง่ายๆ อยู่เพียงเรื่องเดียว ก็คือเสื้อบอลสักตัวมันเป็นอะไรที่มีคุณค่ามากกว่าเครื่องแต่งกายธรรมดา มันคือการบ่งบอกถึงความรักที่มีต่อสโมสรที่ตัวเองเชียร์, มันคือหมุดหมายแห่งความทรงจำในวันที่สโมสรล้มลุกคลุกคลาน หรือประสบความสำเร็จ มันคือเครื่องย้ำเตือนถึงโมเมนต์สำคัญๆ ที่บางครั้งอาจเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต โดยไม่มีทางหาสิ่งใดมาทดแทนได้นั่นเอง

ร่วมสนุกลุ้นรางวัลพร้อมโบนัสก้อนใหญ่

ลุ้นโชคที่นี่! ทายผลฟุตบอลประจำวันกับเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือที่สุด

ติดตามบทความและข่าวสารกีฬาอื่นๆของเรา

Facebook : https://www.facebook.com/TheSportingNewsTH
Instagram : https://www.instagram.com/thesportingnews_th
Tiktok : https://www.tiktok.com/@thesportingnewsthailand