MMA

มวยไทย-กุนแขมร์ : เปิดความจริงจากประวัติศาสตร์ใครลอกใครกันแน่?

01-26-2023
3นาทีที่อ่าน
SN Illustration

มวยไทย กับ กุนแขมร์ : กลายเป็นดราม่าประเด็นร้อนในวงการกีฬาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่มีการเถียงกันถึงความเป็นมา ที่มาที่แท้จริงของศิลปะป้องกันตัวโบราณของภูมิภาคนี้ ... คนไทยก็บอกว่าเป็นของคนไทย ขณะที่ชาวกัมพูชาก็บอกว่าศิลปะนี้เป็นของพวกเขา

ดราม่าแบบนี้ถ้าเถียงกันโดยไม่มีหลักฐานก็คงไม่จบไม่สิ้น ดังนั้น The Sporting News จึงจับมือกับเพจ "The Wild Chronicles - ประวัติศาสตร์ ข่าวต่างประเทศ ท่องเที่ยวที่แปลก" เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าแท้จริงแล้ว มวยไทย กับ กุนแขมร์ ใครมาก่อนใครกันแน่

.

.

.

 

เร็วๆ นี้มีข่าวกัมพูชาในฐานะเจ้าภาพงานซีเกมส์ 2023 ประกาศจัดกีฬาชื่อ “กุนแขมร์” (ชื่อแปลตรงตัวว่า “ศิลปะการต่อสู้ของเขมร” หรือ “มวยเขมร”) ซึ่งถ้านี่เป็นกีฬาพื้นบ้านที่มักถูกจัดในซีเกมส์อยู่แล้วก็คงไม่ใช่ปัญหาอะไร ประเด็นคือกีฬาดังกล่าวมีกฎกติกาที่เหมือนกับกีฬามวยไทยแทบทุกอย่าง! 

นั่นทำให้สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) มองว่านี่เป็นความพยายามในการเคลมวัฒนธรรมมวยไทยของชาวเขมร และประกาศแบนนักกีฬาที่เข้าร่วมกุนแขมร์ในซีเกมส์ มิให้เข้าร่วมงานต่างๆ ที่ IFMA จัดข้างหน้า

ในมุมของชาวเขมร พวกเขามิได้มองว่ากำลังเคลมมวยไทย แต่มองว่ากำลังปกป้องศิลปะการต่อสู้ของตนที่มีความเก่าแก่ดั้งเดิม มิให้ถูกมวยไทยที่ “ลอกเขามาแต่มีการตลาดดีกว่า” กลืนกิน ดังนั้น “มวยไทย-กุนแขมร์” จึงเป็นอีกเชื้อเพลิงในความขัดแย้งระหว่างชาวไทย-เขมร ที่มักจะถกเถียงกันว่าวัฒนธรรมของใครเป็นของแท้หรือของเลียนแบบ

เรื่องนี้มีความเป็นมาและมุมมองที่หลากหลาย ทั้งเกี่ยวพันกับศักดิ์ศรีและความรักชาติของทั้งสองฝ่าย ในบทความนี้ผมจะพยายามอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านประสบการณ์ที่พบเจอมา และใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ประกอบ เพื่อแสวงหาความจริงที่เป็นกลางนะครับ

มุมมองชาวเขมร

1. เรื่องที่มีชาวเขมรโพสต์ข้อความเคลมว่าวัฒนธรรมหลายอย่างของไทยเป็นสิ่งที่ลอกมาจากเขมรนั้นมิใช่เรื่องใหม่ จริงๆ เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ผมเห็นตั้งแต่เริ่มมีอินเตอร์เน็ตใหม่ๆ พวกเขามักบอกว่าวัฒนธรรมไทยเช่นอาหารไทย มวยไทย ชุดไทย งานจิตรกรรม ประติมากรรมนั้นเป็นของเขมรสิ้น Thailand นั้นเป็นเพียง Thiefland ที่ลอกมันไป

2. ในมุมมองของชาวเขมรที่มาโจมตีไทยเรื่องนี้ พวกเขามักบอกว่า คนไท (คือคนที่พูดตระกูลภาษาไท) มีจุดกำเนิดมาจากตอนใต้ของจีน ส่วนเขมรเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ก่อนแล้ว ต่อมาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 กษัตริย์อยุธยายกทัพมาทำลายพระนคร (คือนครธม) แล้วกวาดต้อนผู้คนรับเอาวัฒนธรรมหลายอย่างของเขมรไป ดังนั้นวัฒนธรรมไทยปัจจุบันที่สืบมาจากอยุธยาจึงต้องนับว่าได้รับมาจากกัมพูชานั่นเอง

3. เมื่อถามว่าวัฒนธรรมไทยแท้เป็นอย่างไร ชาวเขมรมองว่ามันเป็นประมาณแบบชาวไทยใหญ่ หรือชาวสิบสองปันนา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย-เขมรไม่มาก ส่วนไทยภาคกลางซึ่งรับอิทธิพลอินเดีย-เขมรมามาก จึงเป็นผู้ลอกเลียนแบบตัวจริง

4. จากที่ผมสังเกตความเคลื่อนไหวแรกๆ ของชาวเขมรที่เคลมวัฒนธรรมไทยและเข้ามาสู่การรับรู้ของชาวไทยนั้น มักอยู่ในเว็บบอร์ดภาษาอังกฤษที่พูดคุยกันเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเขาประกาศชัดเจนว่าเป็นเชื้อสายชาวเขมรที่อพยพออกจากประเทศในช่วงเกิดสงครามกลางเมืองกัมพูชา (ปี 1967-1975) ไปอยู่ประเทศเจริญแล้วเช่นอเมริกา หรือออสเตรเลีย จึงสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี

5. พวกเขาน่าจะได้ไปชมงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยในต่างประเทศ และคงพบว่าวัฒนธรรมหลายอย่างที่ไทยนำไปจัดแสดง เช่น เครื่องแต่งกาย การละเล่น ศิลปะ ฯลฯ ช่างไม่ต่างจากสิ่งที่พวกเขาเจอในประเทศของตัวเองเลย แต่เมื่อมีการนำมาจัดแสดงในชื่อไทยจึงทำให้พวกเขาไม่พอใจ ! ในมุมมองของพวกเขาสิ่งที่รัฐบาลไทยทำคงไม่ต่างจากที่เคยมีข่าวว่าชาติตะวันตกจดสิทธิบัตรข้าวที่คล้ายข้าวหอมมะลิของไทยนั่นเอง

6. ดังนั้นพวกนี้จึงเริ่ม “สงครามครูเสดแห่งการทวงคืนทางวัฒนธรรม” โดยการประกาศตามที่ต่างๆ ว่าวัฒนธรรมของไทยอย่างนั้นอย่างนี้เป็นของเขมร, คอยไปรบกวนเวลาชาวต่างชาติชื่นชมวัฒนธรรมไทย, ไปจนถึงการเคลมว่าดารา-ศิลปินคนไทยอย่างจา พนมและลิซาเป็นคนเขมรด้วย (ทั้งสองเกิดในภาคอีสานตอนใต้ ซึ่งมีชาวไทยเชื้อสายเขมรมาก) ซึ่งแน่นอนว่าหลายอย่างดูแล้วไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ บางอย่างก็ดูตลก

7. สำหรับมวยไทยนั้น พวกเขาเคลมว่าลอกมาจากมวยเขมร โดยมีหลักฐานภาพการใช้ศิลปะมวยในผนังปราสาทขอมโบราณ เป็นท่วงท่าคล้ายมวยประเภทนี้ เขาบอกว่าเมื่อมีหลักฐานนี้แปลว่ามวยเขมรเก่ากว่าและเป็นต้นแบบ

8. ชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาก็ได้รับอิทธิพลจากกระแสดังกล่าว รวมทั้งผู้นำกัมพูชาที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานคือ “ฮุนเซน” นั้นก็ยังได้นำกระแสนี้ไปโหมกระพือ เชื่อว่าเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากการที่ฮุนเซนดำเนินนโยบายหลายอย่างที่คนไม่นิยม ซึ่งรวมทั้งการเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายเวียดนาม ทั้งนี้เป็นการสร้างศัตรูร่วมตามสูตรผู้นำที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมนั่นเอง 

Scroll to Continue with Content

9.  และในกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ ประเด็นเรื่องไทยลอกวัฒนธรรมเขมรก็ได้มาปะทุในรูปของกีฬา “กุนแขมร์” ซึ่งก็เกิดจากกัมพูชามองว่าไทยรับเอากีฬาของพวกตนไปตั้งชื่อเป็น “มวยไทย”  จึงได้ “ตอบโต้” ด้วยการเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นของเขมรอีกครั้ง (ซึ่งเมื่อปี 2022 ยูเนสโกก็ได้อนุมัติให้ “กุนโบกาตอร์” หรือมวยเขมรประเภทหนึ่งเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของกัมพูชาด้วย)

มุมมองชาวไทย

10. ในมุมมองของไทย แม้จะไม่แย้งว่าวัฒนธรรมไทยหลายอย่างรับมาจากเขมรจริง แต่มองว่าก็เหมือนญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมไปจากจีน แล้วต่อมามีการดัดแปลงปริวรรตไปจนเป็นสไตล์ญี่ปุ่น ไทยก็เช่นกันได้นำวัฒนธรรมเขมรหลายอย่างมาปรับใช้กับบริบทของไทย และพัฒนามันไปมากแล้ว ดังนั้นจึงย่อมจะถือว่าเป็นวัฒนธรรมเขมรไม่ได้อีก

11. หลายร้อยปีที่ผ่านมาไทยเข้มแข็งกว่ากัมพูชา เคยยึดกัมพูชาเป็นเมืองขึ้นหลายครั้ง ชาวเขมรเองก็เป็นฝ่ายรับวัฒนธรรมหลายอย่างที่ผ่านการประยุกต์ของชาวไทยประยุกต์เอากลับไปใช้ เช่นชุดราชปะแตน

12. คนไทยบางส่วนยังบอกว่าวัฒนธรรมเขมรที่อยู่ในประเทศกัมพูชาเองนั้นไม่ได้สืบทอดมาจากยุคจักรวรรดิเขมรแต่ขาดตอนนานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของพลพต ผู้นำเขมรแดงที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนชาติเดียวกัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าไทยสืบทอดวัฒนธรรมเขมรโบราณได้ดีกว่าเขมรเสียอีก อย่างกีฬามวยนั้นมวยเขมรเองมีกติกาคล้ายมวยไทยที่ผ่านการประยุกต์ให้เป็นกีฬาสากลไปแล้ว มันจะคล้ายขนาดนี้ได้อย่างไรถ้าไม่ได้ลอกมา?

13. การที่เขมรเคลมวัฒนธรรมของไทยนั้นดูตลก เพราะหลายอย่างเขมรทำได้แย่กว่าไทย และหลายครั้งก็เป็นฝ่ายลอกรูปของไทยไปเคลมว่าเป็นของตนเอง

14. ชาวไทยมองว่าการอ้างภาพสลักบนผนังปราสาทว่าเป็นมวยเขมรนั้นออกจะมักง่ายไปหน่อย เพราะภาพแต่ละภาพที่เอามานั้นไม่มีภาพไหนที่ระบุชัดว่าเป็นการเคลื่อนไหวของมวยประเภทนี้ มันอาจจะเป็นศิลปะการต่อสู้แบบอื่นหรือก็แค่การต่อยเตะตามจินตนาการผู้สลักก็ได้

15. ในกรณีมวยไทย-กุนแขมร์นี้ ชาวไทยบางส่วนยังมองว่าชาวกัมพูชามีสิทธิ์ที่จะนำเสนอมวยของประเทศตนเองขึ้นมาแข่งกับไทยได้ แต่การสวมกติกามวยไทยเป็นมวยกัมพูชาดื้อๆ เช่นนี้ไม่ดี เพราะทั้งภาครัฐและเอกชนไทยต่างใช้เวลาหลายสิบปีในการโปรโมตกีฬาชนิดนี้ให้เป็น soft power ของไทยมาก่อน

Getty Images

มุมมองทางประวัติศาสตร์

15. ว่าแต่ว่าเรามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถสรุปได้ไหมว่ามวยไทย-กุนแขมร์นี้อันไหนเกิดก่อน-เกิดหลัง? …คำตอบคือจนตอนนี้ก็ยังไม่ปรากฏครับ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมาซึ่งเป็นหลักฐานอ่อน ซึ่งจริงๆ ศิลปะการต่อสู้ชุดนี้เป็น “วัฒนธรรมร่วม” ที่มีอยู่ในประเทศไทย, พม่า, ลาว, เขมร มันไม่ใช่กีฬาแต่เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ใช้จริงในสงคราม และเราเรียกมันว่า “มวย” ซึ่งหมายถึงศิลปะการต่อสู้ ต่อมาเมื่อเราพบว่าชาติอื่นมีศิลปะการต่อสู้ต่างจากเรา จึงเริ่มมีคำสร้อยเป็น มวยจีน, มวยไทย, มวยสากล นั่นเอง

16. แนวคิดการแบ่งคนออกเป็น “ชาติ” ตามภาษานี้เป็นคอนเซปต์แบบตะวันตกที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อศตวรรษที่ 18-19 เข้าไปแล้ว ในอดีตนั้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีเส้นแบ่งแยกว่าใครอยู่ประเทศไหน หรือพูดภาษาไหนหรอก มีแต่ว่าใครสังกัดเจ้านาย หรืออยู่ในเขตอิทธิพลของผู้นำกลุ่มใดมากกว่า 

17. มีหลักฐานมากมายว่าอยุธยาเป็นรัฐที่สืบทอดมาจากอาณาจักรละโว้ที่มีประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาเขมร และอยู่ในเขตอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เชื่อว่าชาวอยุธยาเพิ่งจะเริ่มมาใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักหลังจากการผสานรวมกับรัฐสุโขทัยที่มีคนไทยมาก และมีการใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางระหว่างคนกลุ่มต่างๆ 

18. และเพราะกษัตริย์อยุธยาใช้ภาษาไทย เราจึงมีการใช้ภาษาไทยเป็นหลักต่อมาถึงยุครัตนโกสินทร์ และเมื่อเราได้พบกับค่านิยมของตะวันตกที่แบ่งรัฐชาติตามภาษา เราจึงกลายเป็น “ชาวไทย” 

19. ความคิด “ชาตินิยม” ในสมัยหลังก็ถูกสร้างขึ้นตามกรอบนี้หมด เช่นเดียวกับที่จอมพล ป. พยายามรวมรัฐไทยกับรัฐของชาวไทใหญ่ น่าสงสัยว่าถ้าในอดีตกษัตริย์อยุธยายังรักษาภาษาเขมรให้เป็นภาษาหลักของสังคมได้ จนบัดนี้เราจะเป็นคนชาติอะไร และประวัติศาสตร์จะถูกเขียนอย่างไร?

20. ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ ตอนที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ยกทัพไปตีนครธมนั้นก็คงเปรียบได้กับกษัตริย์เขมรรบกันเอง เพียงแต่ถ้าคนเขมรมองในแว่นชาตินิยมสมัยใหม่ (ซึ่งได้รับมาเหมือนๆ กัน) จะมองว่านี่คือ “สงครามระหว่างชนชาติ” และชาวอยุธยาคือข้าศึกต่างชาติ! 

21. นี่เป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นทั่วอาเซียน ไม่ใช่เฉพาะไทยกับเขมร การใช้แนวคิดชาตินิยมมาจับการศึกษาประวัติศาสตร์นั้น ทำให้ประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือนไปเป็นอันมาก คือแทนที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ของทุกชาติอย่างบูรณาการ ก็ศึกษาภายใต้กรอบความคิดที่ว่าสงครามระหว่างชนชาตินั้นมีจริง และชาติของเราย่อมดีกว่าชาติอื่น

22. ดังนั้นหากจะให้สรุปประเด็นของเรื่องมวยไทย-กุนแขมร์นี้ มันนับเป็นปัญหาตกค้างจากลัทธิชาตินิยมที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจในประวัติศาสตร์ของตนผิดเพี้ยนไป กลายเป็นการปฏิเสธแนวคิด “วัฒนธรรมร่วม” และเป็นการเอากรอบความคิดของคนในปัจจุบันไปตัดสินอดีต ผู้มีอำนาจที่เห็นโอกาสย่อมชูมันเป็นประเด็นทางสังคมเพื่อปลุกปั่นคนให้ทำสิ่งที่ตนต้องการ

21. ผมมองว่าปัญหาในเรื่องวัฒนธรรมไทย-เขมรนี้คงสามารถแก้ไขได้ด้วยความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น แทนที่จะตกอยู่ในวังวนแห่งความไม่เข้าใจและความขัดแย้ง แต่จนกว่าจะถึงเวลานั้น การต่อสู้เพื่อ “เคลม” ว่าใครของแท้ ของปลอมคงจะดำเนินต่อไปครับ

NBA LEAGUE PASS สมัครเพื่อชมการแข่งขันเอ็นบีเอสดทุกนัดคลิก