พิคแอนด์โรลคืออะไร? ทำไมผู้เล่น NBA ถึงใช้กันทุกเกม

07-05-2023
4นาทีที่อ่าน

หนึ่งเพลย์ที่เราเห็นได้อยู่ทุกเกม หรือเราสามารถเรียกได้เลยว่าเป็นเพลย์หลักของ NBA ในยุคนี้จะเป็นการเล่นแบบไหนไม่ได้เลยนอกจากการเล่น พิตแอนด์โรล (Pick-and-Roll)

ไม่ว่าจะเป็น ลูก้า ดอนซิช, เลบรอน เจมส์, จามาล เมอร์รีย์, คริส พอล จนไปถึงผู้เล่นที่ถูกดราฟต์เข้ามาใหม่ต่างๆก็ล้วนต้องเล่นเพลย์นี้กันหมดทุกคน หากเป็นผู้เล่นตำแหน่ง 1 ถึง 3 ส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝ่ายถือบอล ส่วนผู้เล่นตำแหน่ง 4-5 จะเป็นผู้เล่นที่โรลเข้าไป

หากใครที่พึ่งเข้ามาดูบาสเกตบอลใหม่ๆและได้ตามใน NBA ฤดูกาลล่าสุด การเล่นพิคแอนด์โรลระหว่าง จามาล เมอร์รีย์ และ นิโคลา โยคิช คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดเพลย์หนึ่งในการโจมตีคู่ต่อสู้เลยทีเดียว หรือหากใครเป็นแฟนของ แอลเอ เลเกอร์ส ก็คงจะรู้ดีว่าการเล่นพิคแอนด์โรลระหว่าง เลบรอน เจมส์ และ แอนโทนี เดวิส นั้นอันตรายมากแค่ไหนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้นหากใครติดตามดราฟต์รุ่นใหม่ๆมาบ้าง สิ่งหนึ่งที่แมวมองมักจะเขียนลงไปในใบประเมินของพวกเขาก็คือผู้เล่นคนนี้เล่น พิคแอนด์โรล ได้ดีแค่ไหน? หรือมีประสิทธิภาพมากแค่ไหนในเกมพิคแอนด์โรล ซึ่งการเล่นเพลย์นี้ได้ดีจะส่งผลต่ออันดับการดราฟต์ไม่น้อยเลยทีเดียว

หลายๆคนอาจจะตั้งคำถามว่าการเล่นเพลย์แบบนี้สามารถสร้างความได้เปรียบในเกมรุกให้กับทีมได้ขนาดนั้นจริงๆหรอ? แล้วผู้เล่นที่ฝึกในเรื่องนี้จนชำนาญจะได้เปรียบแค่ไหน? หากใครอยากรู้ทุกคนสามารถติดตามได้ในบทความนี้

การเล่น พิคแอนด์โรล คืออะไร?

การเล่นพิคแอนด์โรล (หรือ สกรีนแอนด์โรล) แปลง่ายๆเป็นภาษาไทยก็คือ “เลือกและม้วน” 

ใช่ครับ…มันอาจจะฟังแล้วดูตลกว่า เห้ย มันแปลแบบนี้จริงๆหรอ คำตอบคือก็คงต้องเป็นอย่างนั้น เราเลยไม่ใช้คำไทยกับเพลย์นี้และเลือกที่จะทับศัพท์ไปมากกว่า แต่ถ้าเราแยกคำก็จะเข้าใจง่ายขึ้นเพราะ “การเลือก” ก็คือเลือกที่จะสกรีน (บัง) ผู้เล่นไหนและก็ค่อย "ม้วน" ออกไปรับบอลแล้วจบคะแนน นี่คือความหมายของมัน

เพื่อให้เข้าใจภาพได้มากขึ้น การพิค (เลือก) คือการไปสกรีนหรือบังผู้เล่นที่ป้องกันตัวถือบอลของทีมเราอยู่เพื่อสร้างพื้นที่ให้ผู้เล่นถือบอลมีโอกาสที่จะเข้าห่วงหรือยิงได้ง่ายขึ้น

หลังจากที่ตั้งสกรีนได้แล้วผู้เล่นที่ถือบอลก็จะตัดสินใจเล่นจังหวะต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการข้ามเข้าหาห่วง และผู้เล่นที่ป้องกันคนถือบอลอยู่ก็จะตามไปไม่ได้หรือตามไปได้ยากเนื่องจากติดสกรีนของผู้เล่นฝั่งเกมรุก

สิ่งต่อมาสำหรับผู้เล่นที่ พิค (หรือตั้งสกรีน) ก็คือการโรล (หรือม้วน) เข้าไปรอรับบอลจากผู้เล่นที่เป็นคนถือบอล นี่จึงจำให้ผู้เล่นที่เป็นคนถือบอลมีทางเลือกในการโจมตีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการเข้าโจมตีห่วงหรือยิงด้วยตัวเองเองเพราะหลุดจากตัวประกบไปแล้ว หรืออีกทางก็คือส่งบอลให้กับตัวที่โรลเข้ามา

และนี่คือตัวอย่างการเล่นพิคแอด์โรลบางส่วนที่เราได้ยกมา

Scroll to Continue with Content

การเล่นพิคแอนด์โรลส่วนใหญ่จะใช้ระหว่างตำแหน่งการ์ดหรือผู้เล่นตัวเล็กกับผู้เล่นที่สูงกว่าและใหญ่กว่าไม่ว่าจะเป็นฟอร์เวิร์ดหรือเซ็นเตอร์ก็ตาม แต่จริงๆแล้วก็สามารถเกิดขึ้นในแบบตรงข้ามได้เหมือนกัน แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากผู้เล่นตัวใหญ่คนนั้นต้องถือบอลได้และมีการส่งที่ดีเช่น นิโคลา โยคิช

แน่นอนว่าการเล่นพิคแอนด์โรลได้พัฒนาไปไกลมากๆในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนกำเนิดอะไรหลายๆอย่างเช่น การเล่นพิคแอนด์ป็อป (ผู้เล่นที่ตั้งสกรีนไม่โรลเข้าไปแต่ม้วนมารอยิงที่สามคะแนน), หรือมีเพลย์อื่นๆมาผสมด้วยเช่น สเปนพิคแอนด์โรล

นอกจากนั้นการเล่นพิคแอนด์โรลยังสร้างโอกาสให้กับเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆที่รออยู่ได้ด้วยอย่างเช่นเพลย์แบบนี้ที่ต้นกำเนิดเพลย์นี้คือพิคแอนด์โรลแต่จบด้วยการยิงสามคะแนนที่มุมสามคะแนนหรือสร้างพื้นที่ว่างให้กับตัวที่คัตเข้ามารับบอล 

โดยสิ่งที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ได้ก็เพราะบางทีมใช้ผู้เล่นมาป้องกันตัวโรลที่ใต้แป้นจึงต้องยอมเสียการประกบผู้เล่นคนหนึ่งไปและส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นที่อยู่ตรงมุมสามคะแนน หรือสรุปง่ายๆก็คือทีมเกมรับใช้ผู้เล่นถึง 3 คนในการป้องกันเกมพิคแอนด์โรลที่เริ่มต้นด้วยผู้เล่นเพียง 2 คนเท่านั้นจากทีมเกมรุก

นกอจากนั้น หากผู้เล่นเกมรับเลือกที่จะเปลี่ยนตัวประกบ การ์ดที่มีความคล่องตัวกว่าและยิงได้ดีก็สามารถลงโทษอีกฝั่งจากการเล่นไอโซเลชันได้เช่นกัน

ซึ่งการเล่นพิคแอนด์โรลได้ดีนั้นต้องมีความสามารถหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงบอล, การรู้แผนและรู้ตำแหน่งของเพื่อน รวมถึงการส่งบอลที่ดีเพื่อให้การเล่นนั้นจบด้วยความแม่นยำมากที่สุด แต่หากใครมีของแถมอย่างส่วนสูงอยู่กับผู้เล่นที่เล่นพิคแอนด์โรลได้ดีแล้ว ก็จะยิ่งน่ากลัวมากขึ้นไปอีกอย่างเช่น เลบรอน เจมส์ (6 ฟุต 9) หรือว่า ลูก้า ดอนซิช (6 ฟุต 7) เนื่องจากเขามองเห็นผู้เล่นได้ในมุมที่สูงกว่าจึงทำให้มีทางเลือกในการแก้เกมมากว่านั่นเอง

หากใครอ่านมาถึงตรงนี้คงรู้แล้วว่า “พิคแอนด์โรล” คืออะไร? และมันมีประสิทธิภาพแค่ไหน เรารับรองได้เลยว่าคุณจะดูบาสเกตบอลได้เข้าใจและสนุกมากขึ้นอย่างแน่นอน

บทความที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์ฟรีเอเยนต์ NBA 2023 : ใครย้าย ใครอยู่ต่อ ใครรับค่าจ้างแพงสุด?

บทความที่เกี่ยวข้อง : ทีมไหนจะได้ไป? เปิดรายชื่อฟรีเอเยนต์ NBA 2023 ฝีมือดีแต่ยังว่างงาน

NBA LEAGUE PASS สมัครเพื่อชมการแข่งขันเอ็นบีเอสดทุกนัดคลิก