คู่มือพิชิต NBA : เดนเวอร์ นักเก็ตส์ สร้างทีมอย่างไรสู่แชมป์ฤดูกาล 2022-23?

09-25-2023
4นาทีที่อ่าน
(Getty)

การสร้างทีมเพื่อคว้าแชมป์ NBA ไม่มีกฎที่ตายตัว แต่ก็ไม่ได้ไร้หลักการ กว่าทีมจะสามารถหาผู้เล่นที่เข้ากันได้ทั้งเคมีและรูปแบบการเล่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่น้อย

เดนเวอร์ นักเก็ตส์ คือหนึ่งทีมที่ทำการบ้านมาอย่างดีเพื่อสร้างทีมรอบ นิโคลา โยคิช เซ็นเตอร์เจ้าของ MVP สองสมัยและ ไฟนอลส์ MVP คนล่าสุด ด้วยการเสริมจุดอ่อนเติมจุดแข็ง จนทำให้พวกเขาคว้าแชมป์ไปได้ในฤดูกาล 2022-23

ในบทความนี้เราจึงจะมาเจาะลึกกันว่าการมุมมองสร้างทีมของ นักเก็ตส์ เป็นอย่างไร? ทำไมถึงต้องเป็นผู้เล่นชุดนี้ที่รายล้อมตัวโยคิช หากใครอยากรู้ ติดตามไปพร้อมกับเราได้ที่นี่

NBA LEAGUE PASS สมัครเพื่อชมการแข่งขันเอ็นบีเอสดทุกนัดคลิก

วิเคราะห์การสร้างทีมระดับแชมป์ : เดนเวอร์ นักเก็ตส์ 2022-23 

ก่อนที่เราจะไปวิเคราะห์กัน เรื่องหนึ่งที่เหมือนกลายเป็นหลักของการคว้าแชมป์ไปแล้วก็คือ คุณต้องมีผู้เล่นฝีมือดีที่สุด 10 อันดับแรกอยู่กับทีมเพื่อที่จะคว้าแชมป์ NBA หากไล่หลังลงไปจากปี 2023 จะเห็นได้ชัดเจนว่าถ้าคุณไม่มีผู้เล่นระดับนี้อยู่กับทีม ความหวังก็แทบหมดไปในทันที

ผู้เล่น

ฤดูกาลที่ได้แชมป์

นิโคลา โยคิช

2023

สเตฟเฟน เคอร์รี 

2015,2017,2018,2022

เลบรอน เจมส์

2016,2020

ยานนิส อันเทโทคุมโป

2021

คาไว เลียวนาร์ด

2019

โทนี ปาร์คเกอร์*

2014

*เช็คจากการจัดอันดับก่อนฤดูกาลของสื่อต่างประเทศ (อย่างน้อยสามสื่อ) เห็นตรงกันว่า ปาร์คเกอร์ อยู่ใน 10 ผู้เล่นที่ดีที่สุดก่อนเปิดฤดูกาล

จาก 10 ปีล่าสุดของทีมที่เป็นแชมป์บ่งบอกชัดเจนแล้วว่า ถ้าคุณอยากได้แชมป์จริงๆ ผู้เล่นของคุณต้องมีผู้เล่นที่เป็น 10 ผู้เล่นดีที่สุดของลีกในตอนนั้นอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อพาทุกคนไปสู่จุดสูงสุดที่เรียกว่าแชมป์

โดยในปี 2023 ก็คือ โยคิช อย่างที่เราได้กล่าวไป เพราะฉะนั้นเราจะไปขุดคุ้ยต่อกันว่า เดนเวอร์ นักเก็ตส์ สร้างทีมรอบตัว นิโคลา โยคิช ให้เป็นแชมป์ได้ยังไง

เกมรับที่อเนกประสงค์เพื่อกลบจุดอ่อน

การที่ทีมหนึ่งจะได้แชมป์ไปครอบครอง พวกเขาไม่สามารถมีแค่เกมรุก แต่ยังต้องมีเกมรับที่ “อเนกประสงค์” เพื่อจะได้ต่อกรกับทุกทีม

การเล่นเพลย์ออฟไม่เหมือนกับการเล่นฤดูกาลปกติ เพราะว่าคุณจะโดนจี้ในพื้นที่จุดอ่อนไปเรื่อยๆและคุณจะต้องแข่งกับทีมเดียวซ้ำไปซ้ำมาอย่างน้อย 4 เกมติด นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญว่าคุณจะสร้างทีมอย่างไรให้จุดอ่อนตรงนั้นไม่ส่งผลกระทบหนักกับทีม

เราคงต้องยอมรับว่า นิโคลา โยคิช ไม่ได้มีดีเรื่องเกมรับ เพราะฉะนั้นความจำเป็นอย่างแรกในการส่งเขาไปเป็นแชมป์คือทำให้เขารับหน้าที่น้อยที่สุดในเกมรับด้วยการเพิ่มผู้เล่นเกมรับเข้ามาในทีม 

การคว้า เคนทาเวียส คาล์ดเวลล์-โป๊ป และ บรูซ บราวน์ บวกกับการดราฟต์ คริสเตียน บราวน์ เข้ามาคือคำตอบ ทั้งสามคนนี้โดดเด่นในเรื่องเกมรับมากกว่าเกมรุก เนื่องจากการที่ โยคิช ต้องเป็นคนสู้กับ พิค แอนด์ โรล อยู่ทุกเกม การได้การ์ดที่วิ่งผ่านสกรีนดีอย่างสามคนนี้เข้ามาถือเป็นการตอบโจทย์ในพื้นที่เกมรับวงนอกได้อย่างดี

Scroll to Continue with Content
(Getty Images)

ความดีความงามยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะทั้งสามคนที่เราได้กล่าวมา ไม่มีใครเลยที่ตัวเล็กกว่า 6 ฟุต 4 นิ้ว แถม คริสเตียน บราวน์ ยังสูงถึง 6 ฟุต 7 นี่ทำให้ความอเนกประสงค์ในเกมรับมีมากขึ้นไปอีกขั้นเพราะด้วยสภาพร่างกายที่หนาและใหญ่ หาก ไมค์ มาโลน ต้องการให้พวกเขาไปปิดทำแหน่งปีก (ตำแหน่ง 3) ก็ยังทำได้เช่นกัน

หากพูดถึงเกมรับวงนอกไปแล้ว จะไม่พูดถึงเกมรับวงในคงไม่ได้ แถมสองคนนี้คือกุญแจดอกสำคัญที่ช่วย เดนเวอร์ นักเก็ตส์ มาหลายต่อหลายนัด 

แอรอน กอร์ดอน และ เจฟฟ์ กรีน คือคนที่คอยปิดทองหลังพระเฉกเช่นเดียวกับ เดรย์มอนด์ กรีน กับ วอร์ริเออร์ส ก็พูดได้ เมื่อ โยคิช ต้องขึ้นไปรับแอ็คชั่นบ่อยๆ แนวปราการหลังใต้แป้นมักจะว่างลงเสมอและหน้าที่นั้นที่ต้องปกป้องป้อมปราการก็คือทั้งสองคนนี้เป็นหลัก

(NBA Getty Images)

ไม่ว่าจะเป็นการซ้อนใต้แป้นหรือการระวังตัวคัต กอร์ดอน และ กรีน ถือว่าทำหน้าที่ตัวเองได้ดีไม่น้อย แต่สิ่งที่ต้องชื่นชมก็คือการปิดผู้เล่นดีที่สุดของฝ่ายตรงข้ามของ กอร์ดอน ที่เฉิดฉายขึ้นทุกซีรีส์ที่ลงแข่ง นี่เป็นหน้าที่ที่ทุกทีมอยากเป็นแชมป์ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคน ไม่อย่างนั้นคงยากที่จะไปถึงเส้นชัย

ด้วยไซส์ที่ใหญ่บวกกับความคล่องตัวในเกมรับ กอร์ดอน สามารถปิดได้ตั้งแต่ 1-5 นี่คือความอเนกประสงค์ เพราะเมื่อโดนสลับตัวประกบเขาก็สามารถเล่นได้ จะให้ไปปิดเซ็นเตอร์เพื่อเปลี่ยนให้ โยคิช ไปปิดผู้เล่นที่ยิงไม่ได้และคอยซ้อนอยู่ใต้แป้น กอร์ดอน ก็ไม่ขัด หรือจะให้ฟอร์เวิร์ดเจ้าของ 6 ฟุต 8 นิ้ว ไปปิดปีกและโยก ไมเคิล พอร์เตอร์ จูเนียร์ มาเล่น 4 นี่ก็เป็นอีกวิธี 

การมี กอร์ดอน อยู่กับทีมถือว่าเป็นนาทีทองในเกมรับของ นักเก็ตส์ เพราะ มาโลน สามารถหยิบใช้เขาได้ตลอดเวลา ซึ่ง เจฟฟ์ กรีน ก็รับบทบาทนี้เช่นกันในฐานะตัวสำรอง แม้ว่าจะดีไม่เท่าแต่ก็เป็นอะไหล่ที่ยอดเยี่ยม

ทั้งหมดที่กล่าวมาเกี่ยวกับเกมรับไม่ว่าจะทั้งขนาดตัวหรือความสามารถในการสลับตัวประกบของหลายๆคน มันจึงสร้างรูปแบบเกมรับในชุดสองขึ้นมา เพราะเมื่อไหร่ที่ โยคิช ไปนั่ง เกมรุกของพวกเขาจะโหดไม่เท่าเดิม แต่ด้วยเกมรับที่ไม่ต้องกังวล โยคิช มากนัก ทีมจึงสามารถสลับตัวประกบได้ทันที ซึ่งนั่นจะกดดันให้อีกฝั่งเล่น 1-1 อยู่บ่อยครั้ง และยังช่วยลดประสิทธิภาพในผู้เล่นสำรองของอีกฝั่งไปในเวลาเดียวกัน

ส่วนสุดท้ายที่จะขอชื่นชมก็คือ นิโคลา โยคิช ที่แม้จะไม่ได้โดดเด่นเรื่องเกมรับ แต่เขาทำหน้าที่ได้อย่างดีทั้งคอยดูจังหวะ, การสั่งการ และการปกป้องใต้แป้น (แม้จะกระโดดไม่สูงก็ตาม) ฝั่งของ เมอร์รีย์ เองก็ไม่น้อยหน้า ถึงจะดูตัวเล็กแต่เขาก็สูง 6 ฟุต 4 ทำให้หลายๆครั้งที่ไปปิดปีก ก็มีจังหวะที่ทำได้ดีอยู่เหมือนกัน ตรงจุดนี้ทำให้เรตติ้งเกมรับในฤดูกาลปกติที่อยู่อันดับ 15 ดูพัฒนาขึ้นไปไม่น้อยและดันให้พวกเขามีเกมรับที่ดีพอจะคว้าแชมป์

เกมรุกอันน่ากลัว ที่ไม่ทิ้งเกมรับไว้ข้างหลัง

เมื่อคุณมีเซนเตอร์ระดับพระกาฬอยู่ในมือ สิ่งที่ต้องคิดเป็นอับดับแรกคือ “สเปซ” เนื่องจากทางด้านของ โยคิช คือผู้เล่นเพลย์เมคเกอร์ชั้นดีของโลก เมื่อไหร่ที่เขาได้บอล ผู้เล่นอีกฝั่งไม่สามารถประกบ 1-1 ได้อย่างแน่นอน ตรงนี้แหล่ะ ที่เป็นช่องว่างในเกมการรุกของ นักเก็ตส์ เพราะจะมีตัวว่างเสมอ และใช่ครับ โยคิช ส่งให้คนที่ว่างอยู่ได้ทุกครั้ง

ที่ต้องบอกว่าไม่ทิ้งเกมรับไว้ด้านหลังก็เพราะ ผู้เล่นที่เป็นหัวใจในเกมรับต้องเป็นคนที่สามารถสร้างสเปซให้ โยคิช ได้ด้วย ซึ่ง คาล์ดเวลล์-โป๊ป และ แอรอน กอร์ดอน (ในเพลย์ออฟ) ทำตรงนี้ได้ดี และเมื่อบวกกับที่ทีมมีผู้เล่น 5 คนที่ยิงได้ (สามคะแนนเกิน 35 เปอร์เซนต์) เป็นตัวจริง (อีกสองคนคือ จามาล เมอร์รีย์ และ ไมเคิล พอร์เตอร์ จูเนียร์) โยคิช จึงมีพื้นที่มากขึ้นในการเล่นเกมรุก พร้อมกับตัดสินใจได้ว่าจะส่งหรือจะทำแต้มเองในแต่ละสถานการณ์

นี่จึงทำให้ทั้งเกมรับและเกมรุกลงตัวกันอย่างดี ถึงแม้ว่าตัวสำรองจะเปอร์เซนต์ไม่ค่อยดีในเพลย์ออฟ แต่พวกเขาก็ยังขึ้นมาสลับกันดาหน้ายิงได้เรื่อยๆ

(NBA Entertainment)

หากเมื่อไหร่ที่ โยคิช ต้องทำแต้มด้วยตัวเอง เนื่องจากอีกฝั่งไม่ยอมให้ส่งหรือเลือกที่จะประกบ 1-1 เขาก็ทำได้ทุกแบบไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมโพสต์, ระยะกลาง, โฟลตเตอร์ หรือสามแต้ม หากจะหาผู้เล่นที่อเนกประสงค์ในเกมรุกเท่านี้ด้วยประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมคงไม่มีใครเทียบเขาได้ในเวลานี้

แต่ โยคิช ก็ไม่ใช่อาวุธเดียวของ เดนเวอร์ นักเก็ตส์ ในปีที่ผ่านมา เพราะหากมีแค่นั้นทีมอาจไม่ได้แชมป์ โดยผู้เล่นคนสำคัญอีกคนก็คือ จามาล เมอร์รีย์ ที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งหัวหอกในเกมรุกคนที่สอง

การมี เมอร์รีย์ จับคู่กับ โยคิช ทำให้เกมรับของอีกฝั่งรับมือค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องเลือกเกมรับที่จะเล่น เช่นเมื่อสองคนนี้เล่นพิค แอนด์ โรล คุณจะตัดสินใจอย่างไร? ถ้าเลือกเล่น ดรอป โคฟเวอร์เรจ (บิ๊กแมนถอยเพื่อคุมใต้แป้น) ฝั่ง เมอร์รีย์ ก็จะยิงสามคะแนนหากคุณวิ่งผ่านสกรีนไปไม่ทัน หรือถ้าเซ็นเตอร์ (ของเกมรับ) ขึ้นสูงเกิน โยคิช ก็จะโรล (หมุน) เข้าไปจบใต้แป้นง่ายๆ  

(NBAE via Getty Images)

ยากกว่านั้นคือ พิค แอนด์ ป๊อป ที่ โยคิช ออกมายิงสามได้ ถ้าบิ๊กแมนอีกฝั่งตามมา เมอร์รีย์ ก็ข้ามไปจบที่ใต้ห่วง หรือถ้าเกมรับเลือกสลับตัวประกบก็โดนมิสแมตช์ ที่ได้อธิบายมานี้เรากำลังจะบอกว่า อาวุธของ นักเก็ตส์ นั้นมีเต็มมือไปหมด แล้วอย่าลืมเรื่องสามคะแนนข้างต้นที่ใครขึ้นมาก็ยิงได้ดี นี่จึงเป็นความครบเครื่องในเกมรุกที่ไม่แพ้ใครอย่างแน่นอน

หากไม่มี เมอร์รีย์ แล้ว ชุดสำรองก็ถือคงต้องบอกว่างานหนักและหยาบไม่น้อย เพราะไม่มีใครถือบอลเล่นเองได้ดีเท่าเขาโดยเฉพาะเวลาที่ โยคิช ต้องออกไปพัก นี่จึงชี้ให้เห็นอีกครั้งว่าการสร้างทีมนั้นไม่สามารถมองแค่ชุดตัวจริงได้ แต่ต้องมองถึงภาพรวมทั้งหมดรวมถึงเวลาที่เบอร์หนึ่งต้องไปพักที่ข้างสนาม

นอกจากนั้น เรื่องการคัตและอ่านพื้นที่ ทั้ง บรูซ บราวน์, คริสเตียน บราวน์ และ ไมเคิล พอร์เตอร์ จูเนียร์ ก็ทำได้ดี โดยเฉพาะ แอรอน กอร์ดอน ที่เคมีเข้ากับ โยคิช ในลูกล็อบเอามากๆ สุดท้ายไม่ว่า นักเก็ตส์ จะโดนเกมรับของอีกฝั่งบีบให้เล่นอย่างไร ทีมก็เตรียมคำตอบเอาไว้ให้เสมอ

เกมรุกอันยอดเยี่ยมที่มาพร้อมกับเกมรับที่ดี นี่คือหลักการของการสร้างทีมนี้ หาก โยคิช ไม่มีผู้เล่นที่คอยช่วยเกมรับก็อย่าหวังจะได้แชมป์ แต่หากไม่มีผู้เล่นเกมรุกที่ดี เขาคนเดียวก็มาไม่ไกลถึงขนาดนี้เช่นกัน บาสเกตบอลคือกีฬาที่เล่นเป็นทีม ไม่ใช่ว่า “คนเดียว” จะทำได้ทุกสิ่งอย่าง  

เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์ผู้เล่นและการสร้างทีมให้เป็นแชมป์จึงต้องการองค์ประกอบหลายอย่าง แค่ซูเปอร์สตาร์คนเดียว ไม่มีทางพาทีมไปถึงฝันได้แน่นอน

บทความที่เกี่ยวข้อง: รู้หรือไม่ : ใครทำแต้มให้ เลเกอร์ส มากที่สุด 10 อันดับแรกตั้งแต่ปี 2010

บทความที่เกี่ยวข้อง: รู้หรือไม่ : เลบรอน เจมส์ ไม่ใช่ผู้เล่นบาสเกตบอลที่ทำแต้มได้มากสุดในโลก

ติดตามบทความและข่าวสารกีฬาอื่นๆของเรา

Facebook : https://www.facebook.com/TheSportingNewsTH

Instagram : https://www.instagram.com/thesportingnews_th

Tiktok : https://www.tiktok.com/@thesportingnewsthailand