5.7 พันล้านบาทต่อปี : รายได้จากส่วนแบ่งยอดขายรองเท้าเพียง 5% ของ ไมเคิล จอร์แดน

10-11-2022
3นาทีที่อ่าน
NBA Getty Images

แม้ว่า ไมเคิล จอร์แดน จะไม่ได้ลงแข่งบาสเกตบอลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2003 แต่มูลค่าการเซ็นสัญญากับแบรนด์รองเท้าของเขายังคงมีมูลค่าสูงสุดใน NBA ซึ่งดูแล้วเป็นตัวเลขที่ยากแก่การทำฃายอย่างมาก ด้วยชื่อเสียง ความสำเร็จ และ แบรนด์ที่ครองใจคนทั่วโลกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ครั้งหนึ่งการเปิดตัวรองเท้ารุ่นจอร์แดน นับเป็นการปูทางของการสร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้เล่นรุ่นต่อๆมาทั้ง โคบี้ ไบรอันท์, เลบรอน เจมส์ ฯลฯ แต่ดูเหมือนยังไม่มีใครเทียบเคียง “เอ็มเจ” ได้เลยในแง่ของความเป็นเจ้าพ่อแห่งแบรนด์รองเท้ากีฬาบาสเกตบอล

เมื่อวัฒนธรรมรองของรองเท้าบาสเติบโตและกลายเป็นสินค้ากระแสหลัก บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ได้ถอดบทเรียนจากเคสของจอร์แดน และพวกเขาหวังว่าจะได้เจอแจ็คพ็อตครั้งสำคัญในการตีตลาดรองเท้า แม้ว่าความสำเร็จอาจไม่มโหฬาร แต่พวกเขาก็ต้องเร่งมือแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดกันให้ได้มากที่สุด

ในขณะที่ฝั่งผู้เล่นการได้ดีลกับแบรน์รองเท้าจนได้ออกซิกเนเจอร์ของตัวเอง ก็เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความสำเร็จรูปแบบหนึ่ง ในฐานะซูเปอร์สตาร์ของ NBA รวมถึงการเพิ่มโอกาสโกยเงินเข้ากระเป๋าอีกทาง ซึ่งยั่งยืนกว่าสัญญาแบบผู้เล่นอีกด้วย

ถ้าหากจอร์แดนยังคือสุดยอดของดีลรองเท้าบาส แล้วใครคือเจ้าของข้อตกลงที่แพงสุดในปัจจุบัน ? The Sporting News รวบรวมไว้ให้คุณแล้วที่นี่

 

ใครสร้างรายได้จากข้อตกลงกับแบรนด์รองเท้ากีฬามากที่สุด (ต่อปี)

 

ผู้เล่น แบรนด์ รายได้ต่อปี
Michael Jordan Jordan Brand $150,000,000 (5.7 พันล้านบาท)
LeBron James Nike $32,000,000 (1.22 พันล้านบาท)
Kevin Durant Nike $28,000,000 (1.06 พันล้านบาท)
Stephen Curry Under Armour $20,000,000 (763 ล้านบาท)
James Harden  Adidas $14,000,000 (534 ล้านบาท)
Zion Williamson Jordan Brand $12,000,000 (457 ล้านบาท)
Dwyane Wade Li-Ning $12,000,000 (457 ล้านบาท)
Giannis Antetokounmpo Nike $12,000,000 (457 ล้านบาท)
Russell Westbrook Jordan Brand $11,000,000 (419 ล้านบาท)
Kyrie Irving  Nike $11,000,000 (419 ล้านบาท)

ไมเคิล จอร์แดน 

“เอ็มเจ” ยังคงสานต่อความเป็นตำนานของเขาในวงการบาสเกตบอล หลังจากแบรนด์ Air Jordan ของเขายังคงสร้างยอดขายมหาศาล 150 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 5.7 พันล้านบาท) และถ้าหากนับเฉพาะรายได้หลังอำลาคอร์ทบาสเกตบอลของเขาจนถึงปัจจุบันก็พุ่งไปเกินกว่า 1.6 พันล้านเหรัียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท) 

 Air Jordan ซึ่งเป็นแบรนด์ลูกของไนกี้ ประสบความสำเร็จอย่างมากเอาเฉพาะปี 2021 โกยเงินเข้าบริษัทราวๆ 4.7 พันล้านเหรียญ (1.8 หมื่นล้านบาท)

 

 

Scroll to Continue with Content

ย้อนกลับไปปี 1984 จอร์แดน เซ็นสัญญาครั้งแรกกับไนกี้คราวนั้นข้อตกลงอยู่ที่ 500,000 เหรียญสหรัฐต่อปี (ราว 19 ล้านบาท) พร้อมกับส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์จากยอดขาย แต่ปรากฏว่าส่วนแบ่งราว 5% ดันกลายเป็นเม็ดเงินมหาศาลทันทีที่แบรนด์เติบโตและครองใจคอสนีกเกอร์ทั่วโลกได้สำเร็จ

จากการคำนวนแบบง่ายๆ อดีตตำนานทีมชิคาโก้ บูลส์ รับส่วนแบ่งจากยอดขายรองเท้า 1 คู่อยู่ที่ประมาณ 10-12 เหรียญเท่านั้น (ประมาณ 380-457 บาท) แต่นั่นเพียงพอจะทำให้เขาร่ำรวยพอจะทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง เลบรอน เจมส์ มากถึง 4 เท่าด้วยกัน 

เลบรอน เจมส์ 

เจมส์ ถูกมองว่าจะเป็นไมเคิล จอร์แดน คนต่อไปทั้งในแง่ความสำเร็จในสนามและความสำเร็จในเชิงธุรกิจ 

และเหล่าแบรนด์รองเท้าทั้ง อาดิดาส และ รีบ็อค ต่างก็เคยยื่นข้อเสนอให้เขานับตั้งแต่ เลบรอน ยังเป็นผู้เล่นระดับมัธยมปลาย อย่างไรก็ตามสตาร์ดังของทีมเลกอร์สได้ปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้น และ เลือกเซ็นสัญญามูลค่า 90 ล้านเหรียญ (3.43 พันล้านบาท) กับไนกี้ ก่อนที่ต่อมาในปี 2016 เขาจะจรดปากกาในแบบสัญญาตลอดชีพกับไนกี้ และมีการเปิดเผยว่ามูลค่ารวมๆน่าจะเกิน 1 พันล้านเหรียญ (ประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท)

 

(NBAE via Getty Images)

 

เจมส์ ฮาร์เด้น

สัญญา 13 ปี มูลค่ารวม 200 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7.6 พันล้านบาท) คือสิ่งที่ อาดิดาส ยื่นให้กับ ฮาร์เด้น พร้อมกับคำมั่นสัญญาว่าจะทำให้การ์ดเครางามรายนี้มีแบรนด์ลูกของตัวเองในหมวดสินค้ารองเท้าบาสเกตบอล และนั่นทำให้ไนกี้ ตัดสินใจไม่สู้ราคากับ ฮาร์เด้น ในท้ายที่สุด

โคบี้ ไบรอันท์

จากตารางที่เราแสดงให้เห็นก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีชื่อของ โคบี้ เนื่องจากสัญญาของเขากับไนกี้ ได้หมดลงไปเมื่อปี 2021 โดยก่อนหน้านั้นสัญญาที่ไนกี้มอบให้แก่ตำนานผู้ล่วงลับอยู่ที่ราวๆ 16 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 610 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตามหลงัจากไม่มีข้อตกลงใดๆเกิดขึ้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา วาเนสซ่า ภรรยาของ โคบี้ ก็ได้เป็นตัวแทนในการเจรจากับไนกี้และได้บรรลุข้อตกลงใหม่เป็นที่เรียบร้อย แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดให้ทราบ

สำหรับยอดขายรองเท้าของโคบี้ภายใต้แบรนด์ไนกี้ ในปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9.53 พันล้านบาท)

ดเวย์น เหวด 

เหวด เริ่มต้นการเซ็นสัญญาแบรนด์รองเท้ากับ คอนเวิร์ส ซึ่งเขาได้มีรุ่นซิกเนเจอร์ของตัวเองด้วย ก่อนจะข้ามไปอยู่ร่วมค่ายจอร์แดน และท้ายที่สุดก็ไปรับสัญญาก้อนโตกับหลี่-หนิง แบรนด์รองเท้าของประเทศจีน

โดยทีแรกอดีตสตาร์ของทีมไมอามี่ ฮีต ได้รับสัญญา 8 ปี มูลค่า 10 ล้านเหรียญ (ประมาณ 381 ล้านบาท) แต่ในปี 2018 ได้มีการทำข้อตกลงใหม่ให้กลายเป็นสัญญาตลอดชีพ และ เหวดได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายแบรนด์ของ หลี่-หนิง และเจ้าตัวก็ได้ก่อตั้งแบรนด์ย่อยของตัวเองชื่อ Way of Wade ขึ้นมาอีกด้ว