ไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ สำหรับทีมชาติไทย U-17 ที่แพ้คาบ้านให้เกาหลีใต้ 1-4 ในศึกชิงแชมป์เอเชีย แม้จะเจ็บใจที่พลาดคว้าตั๋วไปฟุตบอลโลกแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราสู้สุดกำลังแล้ว
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโลกนี้จะสร้างให้เราเกิดมาเพื่อแพ้ ญี่ปุ่น, เกาหลี, อิหร่าน, ออสเตรเลีย ตลอดกาลชั่วกัลป์ เพราะครั้งหนึ่งในอดีตเมื่อ 12 ปีก่อนเยาวชนทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ของเราก็เคยพลิกล็อคโค่นเกาหลีใต้มาแล้ว ด้วยฝีมือของกุนซือปากแซ่บอย่าง "น้าฉ่วย" สมชาย ชวยบุญชุม
เรื่องราวเสมือนบทละครในอดีตเป็นเช่นไร ทำไม 12 ปีที่แล้วฟุตบอลเด็กเราชนะเกาหลีได้ แต่วันนี้เยาวชนไทยกลับแพ้แบบไร้หนทาง ติดตามได้ที่บทความของเรา...
เส้นทางแห่งขงเบ้ง
เริ่มจากปัจจัยของนักเตะ "น้าฉ่วย" หลังจากได้รับตำแหน่งกุนซือในช่วงกลางปี 2011 ก็ได้รับเป้าหมายจากสมาคมฟุตบอล 2 ข้อซึ่งประกอบไปด้วยข้อแรกต้องพาทีมเป็นแชมป์ U-19 อาเซียน ที่จะแข่งในเดือนกันยายน และข้อสองต้องพาทีมลงเตะรอบคัดเลือกชิงแชมป์เอเชียในเดือนตุลาคม ซึ่งเป้าหมายก็คือผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายให้ได้
จากนั้น "น้าฉ่วย" ก็ออกเดินทางไปสรรหาด้วยตัวเองจากสโมสรรวมถึงอะคาเดมี่ต่าง ๆ ที่ตรงตามกับสไตล์ฟุตบอลที่เขาต้องการทำนั่นคือเน้นตั้งรับแล้วโต้กลับ ซึ่งก็ได้นักเตะอย่าง วัชระ บัวทอง, นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม, พีรพัฒน์ โน้ตชัยยา, อดิศร พรหมรักษ์, ธนบูรณ์ เกษารัตน์, ชนาธิป สรงกระสินธิ์ และ นิติพงษ์ เสลานนท์ เป็นต้น
ซึ่งครั้งหนึ่ง "น้าฉ่วย" เคยกล่าวถึงการเข้ามาคุมทีมชาติไทยชุด U-19 ไว้ได้น่าสนใจมาก ว่า "ถ้าจะพัฒนาเยาวชนทีมชาติ ต้องเลือกโค้ชคนไทย ต่างชาติไม่เหมาะเพราะขาดความสามารถเรื่องของการสื่อสารเชิงลึก"
เวทีแรกของ "น้าฉ่วย" กับแข้ง U-19 ในศึกชิงแชมป์อาเซียนก็ไม่มีอะไรพลิกโผด้วยการคว้าแชมป์มาครองหลังชนะจุดโทษเวียดนามในนัดชิงชนะเลิศ ก่อนจะเตรียมทีมสู้ศึกรอบคัดเลือกชิงแชมป์เอเชียต่อมาโดยใช้นักเตะแกนเดิม ที่ดันจับสลากมาเจอของแข็งทั้ง เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และ กวม แน่นอนว่าเป้าหมายก็คือต้องผ่านเข้ารอบให้ได้สถานเดียวแม้เจอกระดูกชิ้นโตก็ตาม
เดินตามรอย
ตัดภาพมาที่ปัจจุบันในชุด U-17 ของกุนซือ พิภพ อ่อนโม้ ก็มีเส้นทางไม่ต่างอะไรกับ U-19 ของน้าฉ่วยมากนักโดย พิภพ ได้เปรียบตรงที่เขาสามารถหยิบเลือกนักเตะจากชุด "บลูล็อค" ของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับอะคาเดมี่ของชลบุรี มาใช้ได้แทบทั้งทีมเลยก็ว่าได้ แต่สุดท้ายแล้วการเลือกนักเตะก็ขึ้นอยู่กับแผนการทำทีมของโค้ชว่าสไตล์ฟุตบอลจะออกมาในรูปแบบใด
สไตล์ฟุตบอลของ "โค้ชกบ" เน้นเกมรุกที่สนุก ดุดัน ใช้ความสามารถของนักเตะสูง ซึ่งสวนทางกับแทคติกของ "น้าฉ่วย" ที่เน้นตั้งรับแล้วสวนกลับ
อย่างไรก็ตาม ทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติครั้งแรกของเขาในศึกชิงแชมป์อาเซียนเยาวชนอายุไม่เกิน 16 ปี เมื่อปี 2022 กลับไม่ประสบความสำเร็จด้วยการคว้าอันดับ 3 เท่านั้น หลังแพ้เวียดนามในรอบรองชนะเลิศ ก่อนไปเอาชนะจุดโทษพม่าได้ในรอบชิงที่ 3
ต่อมา พิภพ ได้ยึดนักเตะชุดนี้เพื่อปั้นไปสู่การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียรอบคัดเลือกที่ประเทศเวียดนาม ในช่วงปลายปี 2022 นำทีมโดย ต้นตะวัน ปุนทะมุณี, พัชรพล เหล็กกุล และ ศรัณยวัตร์ น้าประเสริฐ เป็นต้น แต่ทว่านัดสุดท้ายกลับแพ้เจ้าภาพเวียดนาม 0-3 แต่ก็ยังผ่านเข้ารอบสุดท้ายด้วยการเป็นทีมอันดับ 2 ที่ดีที่สุดลำดับที่ 5 จาก 6 ทีม
ร่วมให้กำลังใจทีมชาติไทยด้วยเล่นเกมฟุตบอลประจำวันที่นี่
แตกต่างแต่เหมือนกัน
หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้วกับการตั้งคำถามว่าทำไม "น้าฉ่วย" ถึงพาไทย U-19 ชนะเกาหลีได้ แต่ พิภพ กลับพาไทย U-17 แพ้เกาหลีแบบสู้ไม่ได้ เราขอแบ่งปัจจัยต่าง ๆ ย่อยออกเป็นข้อเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ
ข้อแรก ในเรื่องของความสำคัญ U-19 ของน้าฉ่วย เป็นการลงเตะในทัวร์นาเมนต์คัดเลือกไปชิงแชมป์เอเชีย แถมยังเจอเกาหลีในนัดเปิดสนามซึ่งความกดดันหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ได้เจาะจงมาก ขณะที่นักเตะ U-17 ของ พิภพ ต้องลงแข้งพร้อมกับคำว่า "ฟุตบอลโลก" แบกอยู่บนบ่า ซึ่งแค่นี้ก็มองออกแล้วว่า U-17 ของ พิภพ กดดันและเครียดกว่าอย่างชัดเจน
ข้อสอง ปัจจัยเรื่องของสภาพแวดล้อมในสนาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าแฟนบอลที่เข้ามาชมเจ้าหนู U-17 ในสนามปทุมธานี สเตเดียม นั้นหนาตาพอสมควรถึง 5,000 คน แต่หากตัดไปที่ U-19 ในวันชนะเกาหลี เกมดังกล่าวเล่นที่สนามเทพหัสดิน ย่านปทุมวัน ซึ่งเป็นสนามที่ขนาดเล็กกว่ามากแถมยังเปิดให้แฟนบอลเข้าชมฟรีจนเต็มความจุ 6,300 ที่นั่ง อีกทั้งยังมีแฟนบอลอาศัยยืนชมจากบนสถานี BTS ที่อยู่เหนือสนามอีกกลุ่มหนึ่ง บอกได้เลยว่า ถึงสนามจะเล็กกว่าแต่บรรยากาศอึมครึมสุด ๆ
ข้อสาม การยกเอาทีม U-19 มาเทียบกับ U-17 อาจดูไม่สมเหตุสมผล แต่ทว่าการเจอกับทีมหัวแถวของทวีปนั้น ไทยเป็นรองทุกชุดดังเช่นครั้งหนึ่งในกรณีที่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ เคยโดนเกาหลีใต้ U-23 แบกอายุมาตบถึงบ้านด้วยสกอร์ 3-1 ในศึก "คิงส์ คัพ 2012" หรืออีกครั้งใน "คิงส์ คัพ 2015" ที่ "ช้างศึก" ชุดใหญ่โดน อุซเบกิสถาน U-23 ถล่มยิงคาโคราช 5-2 นั่นแสดงให้เห็นว่าต่อให้อายุน้อยแต่ถ้าคุณภาพสูงกว่าก็สามารถเอาชนะไทยได้ง่าย ๆ
ข้อสี่ คู่แข่งที่เจอนั้นต่างกันไปเนื่องจากทีมเกาหลี U-19 ที่แพ้ไทยเมื่อ 12 ปีก่อนเป็นนักเตะระดับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมปลายแทบจะทั้งทีมโดยมีผู้เล่นจากสโมสรติดมาแค่ 5 คนเท่านั้น ขณะที่ทีม U-17 ที่เราเจอกันเมื่อวานปรากฏว่ามีนักเตะจากยูธลีกสโมสรอาชีพของเกาหลีถึง 19 คน ที่เหลืออีก 4 คนมาจากโรงเรียนมัธยมปลาย และที่น่าช้ำใจคือ คิม ฮยอนมิน ผู้ยิงประตูฝัง 4-1 มาจากโรงเรียนเทคนิคสายอาชีวะที่ไม่เกี่ยวข้องกับสโมสรฟุตบอลโดยตรง
ข้อห้า รูปเกมที่ยากจะคาดเดา ตามที่กล่าวไปข้างต้นแทคติกเด็ดของ "น้าฉ่วย" ที่ไม่ว่าจะคุมทีมใดก็จะเน้นตั้งรับแล้วโต้กลับเอาไว้ก่อน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมาคุมทีมชาติ U-19 ก็ใช้แผนเดิมโดยหลังจากที่ ฐิติพันธ์ ยิงประตูขึ้นนำ 1-0 นาทีที่ 57 เราก็ลงไปตั้งรับทั้งทีมจนเอาชนะเกาหลีได้ในที่สุด ทว่า U-17 เมื่อวานนี้เราเสียประตูตั้งแต่นาทีที่ 3 จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเปิดเกมรุกใส่อีกทั้งเรารักษาสกอร์ 1-1 ในครึ่งแรกได้แค่ 17 นาทีเท่านั้นแล้วก็วนลูปกลับมาเปิดหน้าแลกจนโดนยิงถล่มทลาย
ข้อหก มวยคนละเวท หากเกมเมื่อวานนี้เปลี่ยนเป็นกีฬาชกมวย คงเปรียบเสมือนนักชกรุ่นเฮฟวี่เวทมาเจอกับฟลายเวท เพียงแค่คู่กองหลังก็ต่างกันชัดเจนเพราะฝั่งเกาหลีที่มี คัง มินวู และ โค จองฮยอน ก็ปาเข้าไป 185 และ 192 เซนติเมตรตามลำดับแล้ว ขณะที่ผู้เล่นไทยส่วนสูงที่สุดอย่าง พงศกร สังคโสภา และ จีระพงศ์ แช่มสกุล ก็สูงเท่ากันที่ 181 เซนติเมตรเท่านั้น แถมท้ายเกมแม้นักเตะทั้งสองทีมจะแรงเริ่มหมดแต่ทว่าฝั่งเกาหลียังสามารถเบียดนักเตะไทยล้มได้สบาย ๆ
ท้ายที่สุด หากมองลึกลงไปเราอาจแก้ต่างได้ว่าวันนั้นเมื่อ 12 ปีก่อนที่เราชนะเกาหลีได้เพราะนักเตะเราคุณภาพดีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม จากปี 2011 จนถึงปัจจุบัน 2023 เราพบว่าฟุตบอลเกาหลีใต้ไม่เคยหยุดพัฒนาและจะมีแต่พัฒนาไปไกลกว่าเดิมเพราะจากวันที่แพ้เราเขาส่งนักเตะสมัครเล่นมาค่อนทีมแต่วันนี้แค่เด็กเยาวชน 17 ปี ของเขากลับได้เล่นลีกเยาวชนอย่างจริงจัง ตัดมาที่วงการฟุตบอลไทยการสร้างลีกเยาวชนหรือยูธลีกยังเป็นอะไรที่หวังล้ม ๆ แล้ง ๆ อยู่
หากจะโทษแค่โครงสร้างเยาวชนคงเป็นแค่ปลายเหตุ เพราะถ้าจะเริ่มจริงต้องเริ่มจากตัวนักเตะเองที่ต้องมีระเบียบวินัยทั้งการพักผ่อน การออกกำลังกาย และสำคัญสุดคือโภชนาการที่ต้องเคร่งครัดตั้งแต่เยาวชนซึ่งจะต่อยอดในเรื่องสมรรถภาพ ความฟิต เมื่อก้าวขึ้นไปสู่ชุดใหญ่ แต่เรื่องตลกร้ายก็คือสโมสรในไทยลีกที่หมดเงินมหาศาลเพื่อมาลงทุนกับเยาวชนกลับยังไม่ได้ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดครบ เรียกได้ว่าแค่จะบริหารทีมชุดใหญ่ก็ลำบากแล้ว
แต่ไม่ว่าเราจะหยิบยกบทเรียนในอดีตเพื่อมาเรียนรู้ในปัจจุบันมากแค่ไหน ถ้าพัฒนาการยังวนอยู่กับที่ สุดท้ายการอยากเอาชนะ ญี่ปุ่น เกาหลื อิรัก อิหร่าน ซาอุฯ อุซเบฯ ออสเตรเลีย และ ยูเออี คงต้องหลับตาแล้วจินตนาการหลอกตัวเอง....