การลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยของ พล.ต.อ สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง หวั่นไหวราวกับเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวเมื่อเจ้าตัวแจ้งเหตุผลการลาออกมาจากคำสั่งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ
นั่นทำให้เกิดความสงสัยว่าฟุตบอลไทยจะถูกแบนจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) หรือไม่ เพราะการกระทำเหล่านี้เข้าข่ายผิดกฏของฟีฟ่าข้อ 14, 17 และ 19 อย่างไรก็ตาม การลาออกของ พล.ต.อ สมยศ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ทำให้ความจริงรวมถึงเบื้องหลังยังไม่กระจ่าง แต่ถ้าหากสมมติทีมชาติไทยต้องถูกแบนจริง จะเกิดขึ้นในลักษณะใดล่ะ?
เมื่อเป็นเช่นนั้นทีมงานของ The Sporting News จะพาย้อนอดีตไปพบกับชาติที่เคยถูกฟีฟ่าแบน พวกเขาถูกแบนนานแค่ไหนและพ้นโทษได้อย่างไร ซึ่งเราขอยกตัวอย่างมาดังนี้
ไม่ว่าทีมชาติไทยจะรอดการโดนแบนจาก FIFA หรือไม่ แต่คุณยังสามารถร่วมสมัครเล่นสนุก ชิงรางวัลกับการแข่งขันฟุตบอลได้ที่นี่
ไนจีเรีย (2014)
หลังจากตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 2014 สหพันธ์ฟุตบอลไนจีเรีย (NFF) ตัดสินใจปลดคณะกรรมการบริหารยกชุด ก่อนที่ศาลไนจีเรียจะแต่งตั้งให้คนในรัฐบาลเข้ามาบริหารสหพันธ์แทน ทำให้ฟีฟ่าสั่งแบนในวันที่ 9 กรกฎาคม 2014 แต่พวกเขาได้ยกเลิกโทษแบนในเดือนเดียวกันหลังแจ้งฟีฟ่าว่าจะกลับมาเลือกตั้งอย่างโปร่งใส
อินโดนีเซีย (2015)
อินโดนีเซีย ถูกฟีฟ่าสั่งแบนเมื่อปี 2015 หลังจากที่รัฐบาลประกาศยกเลิกสมาคมฟุตบอลจากเหตุล้มบอลครั้งใหญ่ในประเทศ แล้วใช้อำนาจตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นมาเองในนามของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย ได้รับอภัยโทษในปี 2016 ทั้งที่โทษแบนของพวกเขาคาดว่านานถึง 5 ปี
กัวเตมาลา (2016)
กัวเตมาลาถูกฟีฟ่าแบนในเดือนตุลาคม 2016 จากสาเหตุผู้อำนวยการสหพันธ์ฟุตบอลปฏิเสธที่จะรับรองคณะกรรมการบริการ โดยให้เหตุผลระบุว่าขัดต่อกฎหมายของประเทศ และได้รับโทษแบนจากฟีฟ่าตามระเบียบ ก่อนได้รับอภัยโทษในปี 2018 รวมเวลาแค่ปีกว่า ๆ เท่านั้น
อินเดีย (2022)
อินเดียถูกฟีฟ่าแบนในวันที่ 16 สิงหาคม 2022 จากสาเหตุที่ศาลอินเดียมีคำสั่งยุบสมาคมฟุตบอลอินเดีย (AIFF) แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการจากภาครัฐขึ้นมาบริหารแทน เนื่องจาก ปราฟุล ปาเตล อดีตนายกสมาคมฯ อยู่ในตำแหน่งเกินวาระและไม่จัดการเลือกตั้งใหม่ กระทั้งในวันที่ 27 สิงหาคม 2022 ฟีฟ่าได้ยกเลิกโทษแบน หลังจากรัฐบาลอินเดียตกลงที่จะยุติการแทรกแทรง และ AIFF จะจัดการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ คนใหม่อย่างโปรงใสในวันที่ 2 กันยายนปีเดียวกัน
เคนยา (2022)
ฟีฟ่า สั่งแบนสหพันธ์ฟุตบอลเคนยา (FKF) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หลังจากกระทรวงกีฬาของเคนยาตัดสินใจแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลเพื่อบริหารสหพันธ์ฟุตบอลด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบันพวกเขายังไม่พ้นโทษแบน
ศรีลังกา (2023)
สหพันธ์ฟุตบอลแห่งศรีลังกา (FFSL) ถูกฟีฟ่าสั่งแบนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลศรีลังกาเข้าแทรกแซงด้วยการแก้กฎการเลือกตั้งประธานสหพันธ์เพื่อให้นาย ยัสวาร์ อุมา ไม่ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งฟีฟ่าได้แบนพวกเขาตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2023 จนถึงปัจจุบัน
สำหรับในกรณีของทีมชาติไทย ต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับว่า พล.ต.อ สมยศ จะแจ้งเหตุผลการลาออกกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA), สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) และสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (AFF) ว่าอย่างไรซึ่งคำตอบนี้จะส่งผลต่อการสอบสวนของฟีฟ่าในภายหลังอย่างแน่นอน
และหากมองจากชาติที่เคยถูกฟีฟ่าแบน จะพบว่าพวกเขามีโอกาสแก้ตัวใหม่เสมอถ้าหากยอมรับผิดกับฟีฟ่า แล้วให้คำมั่นว่าจะเลือกตั้งใหม่อย่างเป็นธรรม