ไซออน วิลเลียมสัน กลับมามีสภาพร่างกายที่ดีอีกครั้งอย่างที่เราได้เห็นกันไปในโซเชียลมีเดีย นี่คือเรื่องที่น่าดีใจ แต่คำถามที่สำคัญก็คือเขาจะต้องพบเจอกับอาการบาดเจ็บอีกหรือไม่?
เพราะสิ่งที่เราเจอมาตลอดเวลาที่เขาลงเล่นใน NBA ก็คือเริ่มด้วยการลดน้ำหนัก ฟิตพร้อมสำหรับฤดูกาลถัดไป ลงเล่นในฤดูกาลช่วงแรกและจบด้วยอาการบาดเจ็บ ก่อนที่จะวนมาเรื่องน้ำหนักตัว ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนคนเชียร์เริ่มที่จะเอือมระอา
หรือจริงๆแล้วปัญหาของเขาอาจจะไม่ใช้เพราะน้ำหนักตัวทั้งหมด แต่มันคือรูปแบบการเล่นของเขาด้วยที่เป็นส่วนสำคัญทำให้เขาบาดเจ็บ
ทำไม ไซออน วิลเลียมสัน เจ็บบ่อยทั้งที่ฟิตร่างกายตลอด
วิธีการเล่นของ ไซออน วิลเลียมสัน
หากใครยังคิดว่า ไซออน วิลเลียมสัน คือ แชคีล โอนีล ร่างจิ๋วอยู่ บอกตรงนี้เลยว่าคุณกำลังคิดผิดเพราะเราได้ทำการวิเคราะห์เรื่องนี้ไปอย่างละเอียดแล้วในบทความ เหมือนแค่ไหน? : เทียบไซออน กับ แชคีล โอนีล ตำนานเซนเตอร์ของ NBA
และสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้ได้จากบทความนี้เลยก็คือ “ไซออน วิลเลียมสัน มีการทำสกอร์ใต้แป้นที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก (73.1 เปอร์เซนต์ในฤดูดาลนี้จากโอกาส 208 ครั้ง) แต่นั่นไม่ใช่เพราะว่าเขาไปเล่นโพสต์-อัป หรือหันหลังให้กับแป้นแล้วค่อยทำแต้มเป็นหลัก แต่เขาใช้การข้ามหาห่วงที่รวดเร็วบวกกับร่างกายที่แข็งแกร่งเอาชนะคู่ต่อสู้จากวงนอกเข้าไปถึงห่วงซะมากกว่า”
การข้ามเข้าหาห่วงด้วยความรวดเร็วนี่แหล่ะคือสิ่งหนึ่งที่ต้องใช้พลังกายสูงมากๆ แถมจังหวะลงพื้นก็คือการรับน้ำหนักตัวเองที่ขับเคลื่อนด้วยแรงมหาศาลจากการข้ามเข้ามาด้วยเช่นกัน
เราไม่ได้กำลังจะบอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันไม่เจ๋ง เพราะจริงๆแล้วการที่ผู้เล่นสูง 6 ฟุต 6 นิ้วที่พริ้ว, ตัวใหญ่ และแข็งแรงระดับนี้นั้นหาไม่ได้ง่ายๆเลยใน NBA แต่ทว่านี่มันคือการทำร้ายอาชีพในอนาคตของเขามากไปหรือไม่? นี่คือสิ่งที่เราตั้งคำถาม
ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2010 มีมนุษย์คนหนึ่งสร้างแสงที่เจิดจรัสมากๆใน NBA ขึ้นมา ซึ่งผู้เล่นคนนั้นก็คือ เดอร์ริค โรส ที่สร้างปรากฏการณ์ Too Big, Too Fast, Too Strong พร้อมกับทำให้คนทั้งโลกตื่นเต้นไปพร้อมกันกับการทำคะแนนของเขาด้วยการข้ามเข้าหาห่วงอย่างรวดเร็วและรุนแรง
แต่สุดท้ายแล้วก็อย่างที่เรารู้กันดีว่าตอนจบของเรื่องราวนี้มันเป็นอย่างไร
หรือ ไซออน วิลเลียมสัน จะกลายเป็นเหมือน เดอร์ริค โรส?
ทั้งความรวดเร็วในการข้ามและจังหวะในการค้างตัว ทั้งสองคนนี้มีไม่ต่างกันเลยแม้ว่าจะเล่นคนละตำแหน่งพร้อมกับส่วนสูงและน้ำหนักที่แตกต่างกัน
#Bulls 2011 Derrick Rose is the most unguardable point guard in #NBA history pic.twitter.com/90nvanr6em
— Die-Hard Chicago Bulls Fans (@DieHardCBfans) August 13, 2023
Here's the official Zion Williamson "How the Hell Did He Do That?" layup compilation thru the first 21 games of the season.
— Will Guillory (@WillGuillory) February 6, 2021
(I'm sure this list will grow by the end of the year) pic.twitter.com/PyFcCFOTxi
ถ้าหากพูดถึงเรื่องราว What if (ถ้าหากว่า) ที่โด่งดังและเป็นที่พูดถึงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ NBA ไม่มีใครที่จะไม่เคยพูดคำว่า “ถ้า เดอร์ริค โรส ไม่เจ็บ……..” และสิ่งที่ทำให้เกิด What if นี้ขึ้นมาก็คืออาการบาดเจ็บของเขานี่แหล่ะ
ซึ่งหลายๆสื่อรวมถึงนักวิเคราะห์ต่างๆก็พูดกันเยอะว่าการเล่นสไตล์ เดอร์ริค โรส นี่แหล่ะที่ทำให้เขาเจอกับอาการบาดเจ็บหนักแบบนี้ โดยเฉพาะช่วงล่าง ทั้งเข่าและเท้าของเจ้าตัว
และเมื่อเขากลับมาลงเล่นหลังจากหายจากอาการบาดเจ็บ การเล่นที่ทะลุทะลวงก็ค่อยๆน้อยลงตามเวลา แม้ทุกคนจะอยากเห็นเขาร่างเดิมที่สร้างความตื่นเต้นให้กับคนดูมากแค่ไหน แต่ก็ยังต้องกัดฟันห้ามปราบเอาไว้เพราะไม่อยากให้ โรส ต้องเจอกับอาการบาดเจ็บรุนแรงอีกครั้ง
ซึ่ง ไซออน อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันเพราะด้วยการข้ามที่เป็นเพลย์หลักของเขา, น้ำหนักตัวและแรงที่ส่งมาถึงช่วยล่างของร่างกาย เพราะฉะนั้นแม้น้ำหนักจะลดลงหรือฟิตมากแค่ไหนก็ยังมีโอกาสเจ็บซ้ำๆได้อยู่ดี จนอาจจะต้องทำให้เขาต้องเปลี่ยนรูปแบบการเล่นในอนาคต
แน่นอนว่า ไซออน โด่งดังขึ้นมาด้วยการเล่นรูปแบบการข้ามสุดโหด และการจบใต้แป้นสุดมัน แต่ถ้าอาการบาดเจ็บใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งทั้งที่เขาพยายามฟิตร่างกายและลดน้ำหนักทุกปี นี่ก็อาจจะสรุปได้ว่าการเล่นของเขาคือหนึ่งในตัวแปรสำคัญกับอาการบาดเจ็บพอๆกับน้ำหนักตัวเลยทีเดียว
บทความที่เกี่ยวข้อง: ไซออน วิลเลียมสัน: เบื้องหลัง เทคนิค และผลลัพธ์ของรูปร่างที่ดีกว่าเดิม
บทความที่เกี่ยวข้อง: ไซออนเปิดใจเรื่องน้ำหนักตัว : รับอยู่ในช่วงเวลายากลำบาก