สหรัฐอเมริกาทำตามเป้าหมายแรกได้สำเร็จหลังเก็บชัยชนะสามเกมรวดในรอบแรกพร้อมคว้า 6 คะแนนเต็มเข้ารอบสองไปแบบไม่มีอะไรเสียหาย แต่ทว่าก็ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ในเกมล่าสุดกับ จอร์แดน ทางด้าน สตีฟ เคอร์ ตัดสินใจเปลี่ยนตัวจริงจาก แบรนดอน อินแกรม เป็น จอช ฮาร์ท ส่วนตัวจริงคนอื่นๆยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็น เจเลน บรันสัน, แอนโทนี เอ็ดเวิร์ดส์, มิคาล บริดเจส และ จาเรน แจ็คสัน จูเนียร์
ถ้าเรามาดูแต้มตอนจบเกมจะเห็นว่าไม่มีอะไรน่าแปลกใจเพราะมันจบด้วยการที่ อเมริกา ทุบ จอร์แดน ยับ 110-62 คะแนน แต่ถ้าได้ดูเกมเต็มๆ จะเห็นได้เลยว่ามีสิ่งที่ดูดีขึ้นทั้งตัวจริงและตัวสำรอง
อเมริกาดีขึ้นแค่ไหน? หลังให้ อินแกรม เล่นชุดสำรองใน FIBA เวิลด์คัพ
จอช ฮาร์ท ขึ้นมาเป็นตัวจริง
การใช้การ์ดสูง 6 ฟุต 4 นิ้ว มาเป็นตัวจริงแทน ฟอร์เวิร์ด 6 ฟุต 8 นิ้ว เรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือขนาดตัวและการรีบาวด์ แต่ทว่านั้นกลับไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับ จอช ฮาร์ท ที่กดไปคนเดียว 12 ครั้ง กลายเป็นผู้เล่นที่มีรีบาวด์มากที่สุดในเกมสมฉายาผู้เล่นตำแหน่งการ์ดที่รีบาวด์เก่งสุดใน NBA
การรีบาวด์ถือเป็นส่วนหนึ่งในจุดอ่อนของสหรัฐอเมริกา แต่พอได้ ฮาร์ท มาช่วยในเรื่องนี้ จาเรน แจ็คสัน จูเนียร์ จึงวางใจไปได้มากพอตัว
ตัดมาที่เกมรุก ตลอดทั้งเกม ฮาร์ท ยิงฟิลด์โกลไปเพียงสองครั้งเท่านั้น ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพราะมันคือหน้าที่ของเขา เล่นเกมรับ, สร้างเกมสวนกลับ, คอยต่อบอลและเลือกเล่นเพลย์ให้ถูกต้อง หากเทียบกับ อินแกรม แล้ว หน้าที่เหล่านี้ดูจะน้อยไปหน่อยเมื่อเทียบกับความสามารถเกมบุกของเขา เพราะฉะนั้นการให้ ฮาร์ท ขึ้นมารับหน้าที่นี้แทนก็เป็นอะไรที่ลงตัวไม่น้อย
แถมสิ่งที่ทำให้มันเวิร์คขึ้นมามากกว่านั้นก็คือการได้เล่นร่วมกับ บรันสัน และ บริดเจส เพื่อนร่วมทีมที่เคยเล่นด้วยกันที่มหาวิทยาลัย วิลลาโนวา “มันไม่หายไปไหนเลย” บริดเจสเริ่มกล่าวกับ Yahoo Sports “การได้เล่นกับ บรันสัน และ จอช มาหลายปี มันเป็นความเคยชินไปแล้ว ทั้งเกมที่เราฝึกหรือเคยเล่นด้วยกันที่ วิลลาโนวา มันเป็นไปตามธรรมชาติมากๆ”
อินแกรมลงไปเล่นตัวสำรอง
“มันเป็นอะไรที่แตกต่างมากๆกับสิ่งที่ผมเคยทำ” อินแกรมกล่าว “ตอนนี้ทีมเรากำลังชนะ เพราะฉะนั้นผมไม่สามารถเห็นแก่ตัวโดยคิดถึงแต่ตัวเองได้ มันมีความหงุดหงิดเล็กๆสำหรับผมและผมพยายามจะหาทางให้ตัวเองมีประสิทธิภาพให้ได้” นี่คือสิ่งที่ อินแกรม ได้เปิดเผยเอาไว้กับ The Athletic หลังจากจบเกมรอบแรกนัดที่สอง
ในเกมแรกที่พบกับ นิวซีแลนด์ อินแกรมทำไปได้เพียง 2 แต้ม จากการยิงลงไป 1 จาก 4 ครั้งเท่านั้น ต่อมาในเกมที่สองกับกรีซ ผลงานของเขาก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทำไป 5 แต้มจากการยิงลง 2 จาก 4 ลูก แต่เมื่อเขาได้เล่นในชุดสำรอง ทุกอย่างก็เริ่มมีแสงสว่างมากขึ้น
7 แต้ม กับ 5 แอสซิสต์ นี่คือสถิติของ อินแกรม เมื่อลงไปเล่นชุดสำรองเป็นครั้งแรกในทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพ แน่นอนมันอาจไม่โดดเด่น แต่มันแตกต่างกันสิ้นเชิงกับตอนที่เขาได้เป็นตัวจริง ตัวของเขาได้ถือบอลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สร้างจังหวะให้เพื่อนได้หลายต่อหลายครั้งและยังเล่นกับ ออสติน รีฟส์ และ ไทรีส ฮาลิเบอร์ตัน ได้อย่างเข้าขา
หากเปิดสถิติดู ในฤดูกาลที่ผ่านมา มีผู้เล่น NBA แค่ 12 คนเท่านั้นที่มีค่า Usage Rate มากกว่าอินแกรม เพราะฉะนั้นการดึงเขาออกจากชุดตัวจริงที่มีทั้ง บรันสัน และ เอ็ดเวิร์ดส์ เป็นตัวถือบอลหลักย่อมทำให้เขามีพื้นที่ให้เฉิดฉายได้มากขึ้น บวกกับที่ รีฟส์ และ ฮาลิเบอร์ตัน ไม่จำเป็นต้องมีบอลอยู่กับมือก็พร้อมจะยิงสามคะแนนได้แล้ว การเล่นเป็นเพลย์เมคเกอร์ของ อินแกรม ก็ทำให้โดดเด่นมากขึ้นไปอีก
Brandon Ingram Highlights
FIBA World Cup 🇺🇸 vs 🇯🇴 pic.twitter.com/PNYA5SXcCz — Nora (@B_X_I_14) August 30, 2023
“พวกเขา (สต๊าฟโค้ช) คิดว่ามันเหมาะกว่าสำหรับผมที่จะเล่นกับ ไทรีส และเล่นกับคนที่ต้องการบอลน้อยกว่าทั้ง แอนท์ และ เจเลน” อินแกรมกล่าวกับ Yahoo Sports “พวกเขาพูดถึงความเหมาะสมที่มากขึ้นและผมก็เห็นด้วยกับพวกเขานะ”
แม้จะดูแล้วค่อนข้างได้ผลกับการทดลองนี้ แต่จากการรายงานของ เจค ฟิชเชอร์ จาก Yahoo Sports ทางด้านของ สตีฟ เคอร์ ไม่ได้ยืนยันว่าจะใช้ ฮาร์ท เป็นตัวจริงแทน อินแกรม ตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ที่เหลือ เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เคอร์ จะมีการปรับหมากอะไรอีกหรือไม่ในรอบสองที่กำลังจะถึง
บทความที่เกี่ยวข้อง: ฮอลลิส-เจฟเฟอร์สัน คือใคร? ทำไมถึงได้ฉายาว่า โคบี ไบรอันท์ มือซ้าย
บทความที่เกี่ยวข้อง: เปิดทุกบทสัมภาษณ์ : หลัง ฝรั่งเศส ตกรอบแรก FIBA เวิลด์คัพ 2023