นายธนากร คมกฤส ผอ. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน มองว่าการที่ประเทศไทยไม่ยอมซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกนั้นเป็นการส่งเสริมให้คนในประเทศเดินทางเข้าหาเว็บพนัน
เหลือเวลาไม่ถึง 1 อาทิตย์แล้วสำหรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่จะทำการลงเล่นรอบแบ่งกลุ่มนัดแรกกันในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ แต่ทางประเทศไทยของเรายังไม่ได้มีการปิดดีลซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากฟีฟ่าเลย
ซึ่งสาเหตุที่ประเทศของเรายังไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาเสียทีนั่นก็เพราะว่ายังไม่สามารถตกลงราคาและหาเงินมาได้ครบตามจำนวนที่ฟีฟ่าตั้งราคาไว้ที่ราว ๆ 1,600 ล้านบาทไทยได้ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจริง ๆ ในตอนสุดท้าย?
ทาง นายธนากร คมกฤส ผอ. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ได้เผยกับทาง บีบีซี ไทย ว่า การที่ประเทศไทยเราไม่มีลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก มันจะทำให้สุดท้ายแล้ว คนในประเทศต้องมุ่งเข้าหาลิงค์เถื่อน ซึ่งลิงค์หรือเว็บเถื่อนเหล่านั้น เป็นที่รู้กันดีว่า มีเว็บพนันคอยบริหารอยู่เบื้องหลัง
และเมื่อได้เข้าไปในเว็บนั้น ๆ แล้ว ผู้ใช้งาน จะพบแต่ข้อความ, โฆษณา และคลิปต่าง ๆ ที่ชักชวนเล่นการพนัน ทำให้นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ “ผีพนัน” ก็ว่าได้
“การไม่ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) เป็นการผลักคนที่เดิมไม่สนใจเล่นการพนันไปหาช่องทางการดูทางเว็บเถื่อน ซึ่งให้เข้าใจเลยว่า 100% ของเว็บเถื่อนเป็นเว็บพนัน และมีโอกาสที่พวกเขาจะถูกกระหน่ำด้วยการโฆษณาของเว็บพนัน ซึ่งมีทั้งข้อความที่ชวนให้พวกเขามาเล่นและการชักชวนให้พวกเขามาเป็นเอเยนต์อีกด้วย” ผอ. มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าว
"ยังไงพวกเขาก็คงดิ้นรนไปดู ในขณะที่เว็บพนันก็พยายามเสนอตัวเขามาเป็นช่องทาง เพียงลองพิมพ์ค้นหาว่า ฟุตบอลโลก ก็จะเจอ ซึ่งมันไม่ยากเลย"
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดเงินพนันสะพัดจากการพนันฟุตบอลสูง 5.7 หมื่นล้านบาทในช่วงฟุตบอลโลก
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาที่เข้ามาเล่นการพนันนี้อาจจะเสียอนาคตได้ ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปราบปรามเว็บการพนันต่าง ๆ ในช่วงฟุตบอลโลกนี้เพราะอาจจะเกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้สินตามมาได้” นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว