นักเก็ตส์สร้างทีมอย่างไร? จนไปชิงแชมป์ NBA ครั้งแรกของแฟรนชายส์

Author Photo
Jamal Murray and Nikola Jokic
(Getty Images)

เดนเวอร์ นักเก็ตส์ กำลังมุ่งหน้าสู่การแข่งขัน NBA ไฟนอลส์ เป็นครั้งแรกของ แฟรนชายส์ ซึ่งเป้าหมายของพวกเขาในตอนนี้คือต้องการชัยชนะอีกเพียงแค่ 4 เกมเท่านั้น ฝันของพวกเขาก็จะเป็นจริง

อย่างที่เรารู้กันดีว่ากว่าที่ นักเก็ตส์ หรือทีมใดซักทีมจะผ่านมาถึงรอบชิงชนะเลิศนั้นไม่มีอะไรที่ง่ายเลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งผู้เล่นและโค้ชต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นชัยชนะออกมา แต่อีกส่วนที่เราจะลืมไปไม่ได้เลยก็คือการทำงานขององค์กรที่คอยเฟ้นหาผู้เล่น “ที่ดีและเหมาะสม” กันมากที่สุดเข้ามาสู่ทีมเพื่อให้ทีมมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเล่นร่วมกัน

อย่างที่เราเคยบอกไปแล้วว่า “ไม่มีใครสามารถชนะด้วยตัวคนเดียวได้” ในบทความ รู้จัก นิโคลา โยคิช : จากดราฟท์อันดับ 41 สู่ MVP ที่พาทีมเข้าชิงครั้งแรกของแฟรนชายส์ ซึ่งสิ่งที่กำลังจะสื่อก็คือแม้ผู้เล่นสตาร์ที่คอยนำทีมจะเก่งกาจเพียงไหน แต่ถ้าเพื่อนร่วมทีมไม่ดีและองค์ประกอบของทีมไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ทุกคนได้เล่นอย่างเต็มที่ สตาร์เหล่านั้นก็ไม่สามารถไปได้ไกลอยู่ดีในสนามเพลย์ออฟ

เพราะฉะนั้นในวันนี้เราจะไปดูกันว่า เดนเวอร์ นักเก็ตส์ สร้างทีมอย่างไร? ต้องเสียหรือได้อะไรมาบ้าง? กว่าที่ทีมของพวกเขาจะสร้างประวัติศาสตร์เข้าชิง NBA ไฟนอลส์ เป็นครั้งแรกของแฟรนชายส์มาได้

โดยเราจะไล่เรียงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการดราฟท์หรือเทรดที่สำคัญของทีม เดนเวอร์ นักเก็ตส์ จนกว่าจะมาเป็นทีมชุดนี้

ร่วมเล่นสนุก ชิงรางวัลกับการแข่งขันNBAได้ที่นี่

นักเก็ตส์สร้างทีมอย่างไร? จนไปชิงแชมป์ NBA ครั้งแรกของแฟรนชายส์

จุดเริ่มต้นและตัวหลักของ เดนเวอร์ นักเก็ตส์ ในชุดนี้นั้นต้องบอกว่ามาจากการดราฟท์เป็นส่วนใหญ่ก่อนที่ทีมจะมีการปรับเปลี่ยนและเสริมเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อกลบจุดอ่อนและเน้นจุดแข็งของทีม

2014: ดราฟท์ นิโคลา โยคิช ผู้เล่นระดับแฟรนชายส์ของทีม 

Nikola Jokic
(Getty Images)

ต้องบอกว่านี่คงเป็นสิ่งที่ใครไม่คาดคิดว่าดราฟท์อันดับ 41 ในปี 2014 จะขึ้นมาเป็นผู้นำทีมจนถึงทุกวันนี้ ไม่เพียงแค่นั้นเขายังได้ทั้งรางวัล MVP ในฤดูกาลปกติและ MVP ในรอบชิงแขมป์สายตะวันตกปีล่าสุดหรือแม้กระทั่งทำลายสถิติสุดโหดต่างๆของตำนาน NBA อย่าง วิลท์ แขมเบอร์เลน อีกด้วย

เวลาผ่านไป 9 ปีตั้งแต่ที่เขาดราฟท์เข้า NBA เวลาได้พิสูจน์แล้วว่าตัวเขาดีพอที่จะเป็นผู้นำของทีมเพื่อพาทีมเข้าชิง NBA ไฟนอลส์ ไม่ว่าจะเป็นการทำแต้มได้ทุกระยะ, การส่งที่ดีจนหาใครเทียบยาก รวมไปถึงทักษะเพลย์เมตเกอร์และการอ่านเกมที่เหนือกว่าคนอื่นๆอย่างชัดเจน

2015: จ้าง ไมค์ มาโลน หัวหน้าโค้ชคนใหม่ของทีม

Michael Malone 05192023
(NBA Getty Images)

หลายๆคนอาจจะมองข้ามในจุดนี้เพราะสิ่งหนึ่งที่ทีมต้องมีหากหวังจะเข้าไฟนอลส์นั้นไม่ใช่แค่ผู้เล่นแต่รวมถึงหัวหน้าโค้ชที่ดีด้วย

เดนเวอร์ ได้จ้าง ไมเคิล มาโลน เข้ามาทำงานในวันที่ 15 มิถุนายน ปี 2015 ก่อนที่จะพาทีมที่ชนะเพียง 30 เกมก่อนจ้างเขามาค่อยๆพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆจนสามารถเข้าเพลย์ออฟได้ 5 ปีติดและพาทีมเข้าชิงแชมป์สายตะวันตกได้ถึงสองครั้ง

เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือเขาเป็นโค้ชอันดับที่ 4 ที่ได้คุมทีมเดียวนานขนาดนี้ (จากโค้ชที่ยังคุมอยู่ในปัจจุบัน) โดยเป็นรองแค่ เกร็กก์ โปโปวิช, เอริก สโปลส์ตรา และ สตีฟ เคอร์ เท่านั้น 

2016: ดราฟท์ จามาล เมอร์รีย์ การ์ดตัวจริง คู่หู นิโคลา โยคิช 

Jamal Murray Denver Nuggets
(NBA Entertainment)

จามาล เมอร์รีย์ ถูกทีมดราฟท์เข้ามาในอันดับที่ 7 ในปี 2016 ซึ่งนี่คือสิทธิ์ดราฟท์ที่ได้มาจากการเทรดสามทางในดีล คาร์เมโล แอนโทนี ไปให้กับ นิวยอร์ก นิกส์ จน เดนเวอร์ ได้สิทธิ์สลับอันดับดราฟท์รอบแรกกับนิกส์ ซึ่งในตอนนั้น นิกส์ ถืออันดับ 7 และ นักเก็ตส์ ถืออันดับที่ 9 ทีมจึงตัดสินใจแลกสิทธิ์อันดับ 7 เข้ามาสู่ทีมและคว้าตัว เมอร์รีย์ เข้ามาจาก เคนทัคกี 

เขาคือส่วนหนึ่งที่มาเติมเต็มการเล่น ทูแมนเกม กับ โยคิช เพราะเขาค่อนข้างครบเครื่องไม่น้อยในเกมรุกทั้งการยิง สามแต้มแบบแคทช์แอนด์ชู๊ตหรือจะเป็นการพูลอัพไม่ว่าจะเป็นจากระยะกลางหรือหลังเส้นสามคะแนน นอกจากนั้นเขายังแบ่งเบาภาระในการสร้างเกมรุกของทีมเมื่อ โยคิช ไม่อยู่ในสนามได้อีกด้วย  

2017: ดราฟท์ วลัทโก ชานชาร์

วลัทโก ชานชาร์ ถูกดราฟท์เข้ามาในอันดับที่ 49 ปี 2017 แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีบทบาทมากนักในเพลย์ออฟ แต่เขาคือคนหนึ่งที่มีความสำคัญในฤดูกาลปกติเพราะเมื่อไหร่ที่ตัวจริงเจ็บเขาก็พร้อมที่จะขึ้นมาและก็ทำหน้าที่ได้คงเส้นคงวามากๆ

2018: ดราฟท์ ดาวรุ่งพุ่งแรง ไมเคิล พอร์เตอร์ จูเนียร์

Michael Porter Jr. Denver Nuggets
(NBA Entertainment)

ไมเคิล พอร์เตอร์ จูเนียร์ เข้ามาในลีกโดยไม่มีใครตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถของเขา แต่ส่วนใหญ่จะตั้งคำถามและมีความกังวลเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่หลังช่วงล่างของเขาซะมากกว่าเพราะเขาต้องเข้ารับการผ่าตัดและลงเล่นได้แค่ 3 เกมเท่านั้นตอนที่เขาเล่นให้มิซซูรี

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่อันดับดราฟท์เขาร่วงมาอยู่ถึงอันดับที่ 14 แต่ก็ถือว่าเป็นโชคส่วนหนึ่งเหมือนกันที่ร่วงมาถึงมือของ เดนเวอร์ นักเก็ตส์ และได้นำเขาเข้ามาสู่ทีมจนได้ 

พอร์เตอร์ จูเนียร์ ถือเป็นผู้เล่นที่ช่วยให้เกมของ โยคิช ง่ายขึ้นเพราะเขาตัวใหญ่พอที่จะช่วยในการป้องกันใต้แป้น และเป็นคนที่ยิง 3 คะแนนได้ดี ทำให้ โยคิช และทีมไว้วางใจได้เสมอที่ส่งบอลให้เขาหลังเส้นสามคะแนน 

การที่เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดครั้งที่สามที่หลังในช่วงฤดูกาลที่สามจะเป็นจุดที่หลายๆคนเริ่มหมดหวังกับร่างกายของเขา แต่สุดท้ายเขาก็กลับมาแข็งแรงจนช่วยทีมได้ถึงตอนนี้

2020: ดราฟท์ ซีค นานจี

ซีคถูกดราฟท์เข้ามาในปี 2020 ด้วยการเป็นดราฟท์อันดับที่ 22 แต่ทว่าเขาก็ไม่ได้มีบทบาทเท่าไหร่นักกับทีมทั้งในฤดูกาลปกติและเพลย์ออฟ

2021: เทรดกับ เมจิก เพื่อแลก แอรอน กอร์ดอน และเซ็นสัญญา เจฟ กรีน จากตลาดฟรีเอเย่นต์

(SN/Getty)

การเสริมทีมในฤดูกาลนี้คือส่วนเติมเต็มชั้นดีให้กับเหล่าผู้เล่นตัวหลักที่ดราฟท์มา โดยในช่วงตลาดการเทรดปี 2021 นักเก็ตส์ได้ตัดสินใจเทรด อาร์เจ แฮมป์ตัน, แกรี แฮร์ริส และสิทธิ์ดราฟท์รอบแรกปี 2025 ไปให้กับ เมจิก เพื่อแลกกับ แอรอน กอร์ดอน และ แกรี คลาร์ก เข้ามา  

ซึ่งดีลนี้ถือว่าเป็นการขยับที่ดีมากๆเลยทีเดียวเพราะเขาได้ตัวผู้เล่นเกมรับชั้นดีเข้ามาสู่ทีมเพราะ กอร์ดอน มักจะได้รับหน้าที่ปิดสตาร์ของฝ่ายตรงข้ามอยู่บ่อยๆเนื่องจากเขามีทั้งไซส์, ความเป็นนักกีฬา, ความขยันและพร้อมที่จะทำงานสกปรกแถมยังเล่นเกมรับได้หลากหลายรูปแบบอีกต่างหาก ส่วนในเกมรุกที่เขาสร้างเองไม่ค่อยดีนักก็ไม่มีปัญหาเพราะมี นิโคลา โยคิช คอยปั้นเกมให้อยู่แล้ว

ส่วน เจฟ กรีน นั้นทีมได้เซ็นมาในเดิน สิงหาคม ปี 2021 ซึ่งเป็นอีกคนที่ทำได้ดีทั้งในและนอกสนามเพราะเขาคือพี่ใหญ่ของทีมที่คอยเป็นกาวใจเชื่อมความสัมพันธ์ให้กับน้องๆ ส่วนในสนามนั้นเขาก็ยังทำหน้าที่คล้ายๆกับ กอร์ดอน ได้ดีแม้ว่าเกมรับจะไม่ดีเท่าเนื่องจากอายุที่มากแล้ว แต่เกมรุกเขาก็สามารถยิงสามคะแนนได้ดีและ มาโลน สามารถใช้เขาเป็นตัวเปลี่ยนเกมได้

2022: เทรด คาล์ดเวลล์-โป๊บ, เซ็น บรูซ บราวน์ และ ดราฟท์ คริสเตียน บราวน์ กับ เพย์ตัน วัคสัน

Getty

บรูซ บราวน์ ได้เซ็นสัญญากับ นักเก็ตส์ หลังจากเล่นให้กับ เน็ตส์ ในช่วงสองปีล่าสุดและกลายเป็นฟรีเอเย่นต์ ส่วน เคนทาเวียส คาล์ดเวลล์-โป็บ (และ อิช สมิธ) ได้ถูกเทรดเข้ามาด้วยการแลกกับ มอนเท มอร์ริส และ วิลล์ บาร์ตัน ไปให้กับ วิซาร์ดส์ และทางด้านของ คริสเตียน บราวน์ ถูกดราฟท์เข้ามาเป็นอันดับที่ 21 ซึ่งทั้งหมดเกินขึ้นในช่วงปิดฤดูกาลก่อนเข้าฤดูกาลนี้

ที่เรารวบสรุปการได้มาของสามคนนี้เข้าด้วยกันเพราะทั้งสามคนมีจุดร่วมเดียวกันคือพวกเขาเป็นผู้เล่นเกมรับวงนอกที่ทีมขาดหายมาหลายปี ซึ่งทั้งสามคนนี้คือส่วนเติมเต็มชิ้นสำคัญของทีมจริงๆ พ่วงด้วยการที่พวกเขาสามารถยิงสามคะแนนได้ทุกคน แถม บรูซ บราวน์ ยังสามารถขึ้นมาเป็นตัวถือบอลแทน จามาล เมอร์รีย์ ได้ดีอีกด้วย

การที่ได้ผู้เล่นเกมรับฝีมือดีและยิงสามแต้มได้คือการสร้างทีมเพื่อ นิโคลา โยคิช อย่างแท้จริงเพราะเซนเตอร์เจ้าของ MVP สองสมัยนั้นจะได้พื้นที่ในการเล่นใต้แป้นง่ายขึ้นและหาก โยคิช สามารถดึงผู้เล่นอีกฝ่ายมาได้สองคน ฝีมือการจ่ายและไอคิวของเขาก็สามารถจ่ายออกไปให้เพื่อนยิงสามแต้มได้อย่างง่ายดาย 

ส่วนผู้เล่นอีกสองคนที่เข้ามาร่วมทีมในปี 2022 ก็คือ ดีอันเดร จอร์แดน ที่เข้ามาจากการเซ็นฟรีเอเย่นต์ และ เพย์ตัน วัตสัน ที่ได้มากจากการเทรดตัว จามายเคิล กรีน

2023: เซ็น เรจจี้ แจ็คสัน และเทรดกับ เลเกอร์ส เพื่อแลก โธมัส ไบรอันท์

Thomas Bryant and Nikola Jokic
(NBA Entertainment)

นักเก็ตส์ ได้ เรจจี้ แจ็คสัน มาจากช่วงหลังตลาดการเทรดที่ ฮอร์เน็ตส์ ได้เวฟเขาออกมา (หลังจากที่ ฮอร์เน็ตส์ เทรดกับ คลิปเปอร์ส) และได้ โธมัส ไบรอันท์ เข้ามาจากการเทรดและกับ แอลเอ เลเกอร์ส

แม้ว่าทั้งสองคนนี้จะไม่ค่อยมีส่วนร่วมในเพลย์ออฟเท่าไหร่แต่ในช่วงฤดูกาลปกติทั้งสองคนก็ถือว่าช่วยทีมได้อยู่เหมือนกัน

และทั้งหมดนี้คือการสร้างทีมของ เดนเวอร์ นักเก็ตส์ ที่ได้มีการเปลี่ยนผ่านอยู่ไม่น้อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเราอาจจะไม่ได้พูดถึงผู้เล่นหลายๆคนไม่ว่าจะเป็น พอล มิลแซป หรือ เจรามี แกรนท์ ที่ทีมเสียไป เพราะเราอยากจะเน้นกับผู้เล่นที่เป็นชุดปัจจุบันมากกว่า

ด้วยชุดผู้เล่นที่มีคุณภาพทั้งเกมรับและเกมรุก ความพร้อมของทั้งวงนอกและวงใน บวกกับการสร้างทีมโดยมี นิโคลา โยคิช เป็นศูนย์กลางของทีมจึงทำให้การสร้างทีมนี้ประสบความสำเร็จและพุ่งขึ้นมาสู่รอบชิง NBA ไฟนอลส์ ในที่สุด

อย่างที่บอกไปว่าเป้าหมายของ นักเก็ตส์ ไม่ใช่แค่เข้าชิงแต่คือการเป็นแชมป์ เส้นทางของพวกเขายังไม่สิ้นสุดลงไป เราคงต้องติดตามกันต่อว่าทีมชุดนี้ของ นักเก็ตส์ จะไปแตะถ้วย แลร์รี โอ ไบรอัน ได้หรือไม่

NBA LEAGUE PASS สมัครเพื่อชมการแข่งขันเอ็นบีเอสดทุกนัดคลิก 

ผู้แต่ง
Author Photo
นักวิเคราะห์บาสเกตบอล NBA ของ The Sporting News ผู้เจาะลึกทุกเพลย์การเล่น
LATEST VIDEOS