หลังจากจบการดราฟต์ของ NBA ในปี 2023, ซัมเมอร์ลีก และ ปรีซีซั่นที่ให้รุกกี้หลายๆคนได้แสดงผลงาน สุดท้ายก็มีทั้งทีมที่พอใจและไม่พอใจกับผลงานการทำทีมของตัวเองสักเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พวกคุณก็กลับไปเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นไม่ได้แล้วและต้องมองถึงแต่อนาคตเท่านั้น
โดยในวันนี้เราอาจจะมองอนาคตไปไกลกันสักเล็กน้อย ซึ่งนั่นก็คือการมองไปถึงช่วงจบฤดูกาลว่าใครกันแน่ที่จะเป็นผู้เล่นโดดเด่นที่สุดในดราฟต์รุ่นนี้และคว้ารางวัลรุกกี้ยอดเยี่ยมกลับไปกอดในอ้อมอก
ใครหลายคนคงคิดว่า วิคเตอร์ เวมบันยามา น่าจะได้เข้าวินเป็นอันดับที่ 1 ได้อย่างไม่ยากเย็นจากกระแสสุดร้อนแรง แถมเขายังเป็นผู้เล่นที่สัก 10 หรือ 20 ปีจะมีผู้เล่นที่มีศักยภาพพอที่จะกลายเป็นสุดยอดของลีกได้สักทีหนึ่งอีก แต่ความจริงก็คือ อะไรก็ไม่แน่ไม่นอนทั้งนั้นใน NBA เพราะอย่าลืมว่าผู้เล่นดราฟต์อันดับต้นๆก็มีของดีอยู่ไม่น้อยทั้ง แบรนดอน มิลเลอร์ และ สกู๊ต เฮนเดอร์สัน แถมยังมีดราฟต์อันดับสองในปี 2022 ที่ไม่ได้ลงเล่นในฤดูกาลที่แล้วอย่าง เช็ต โฮล์มเกรน มาคอยแย่งบัลลังก์นี้ไปจาก เวมบันยามา อีกต่างหาก
หากใครอยากรู้แล้วว่าพวกเขาเหล่านี้เราเต็งให้อยู่อันดับที่เท่าไหร่? สามารถติดตามกันได้ที่บทความด้านล่างนี้เลย
NBA LEAGUE PASS สมัครเพื่อชมการแข่งขันเอ็นบีเอสดทุกนัดคลิก
เปิดตัวเต็งรุกกี้ยอดเยี่ยม NBA ประจำปี 2024
อันดับ 1: วิคเตอร์ เวมบันยามา, สเปอร์ส
สถิติปรีซีซั่น: 19.2 แต้ม, 4.7 รีบาวด์, 1.5 แอสซิต์, 2.7 บล็อก
อย่างที่เราได้บอกไปข้างต้นว่า วิคเตอร์ เวมบันยามา คือตัวเต็งในการคว้ารุกกี้ยอดเยี่ยมแห่งปีในฤดูกาลที่จะถึงนี้
ด้วยการที่เขาสามารถเล่นเกมรุกได้อย่างหลากหลายพร้อมความสูง 7 ฟุต 4 นิ้ว ทำให้เขาน่าจะสามารถทำแต้มได้จากหลายรูปแบบการเล่นไม่ว่าจะเป็นการยิงระยะกลาง, การเล่นในตำแหน่งโพสต์, การไดรฟ์เข้าหาห่วง หรือจะเป็นการยิงสามคะแนน ยิ่งเขาได้อยู่ภายใต้การโค้ชของ เกร็กก์ โปโปวิช แล้ว การเล่นของเขาก็มีโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นแน่นอน
ส่วนเกมรับเราคงไม่ต้องพูดถึงเพราะเขาได้ส่งผลกระทบในด้านนี้มากกว่าเกมรุกอีกด้วยซ้ำเนื่องจากนี่เป็นสิ่งที่เขาโดดเด่นมากที่สุดมาตั้งแต่เริ่มเล่นอาชีพ ด้วยการมีช่วงแขนที่ยาวถึง 8 ฟุต เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการมีไปถึง 2.7 บล็อกต่อเกมในช่วงปรีซีซั่นที่ผ่านมา
อีกอย่างที่เป็นปัจจัยหลักก็คือนาทีการลงเล่นที่ เวมบันยามา น่าจะได้ลงเล่นเป็นตัวจริงตั้งแต่นัดแรกจนถึงปิดฤดูกาลและหากไม่มีอาการบาดเจ็บ ทีมก็น่าจะส่งเขาลงทุกเกมด้วยน่าทีการลงเล่นไม่น้อยกว่า 30 นาทีต่อเกมอย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งเดียวที่จะรั้งเขาไม่ให้ได้รางวัลนี้ไปก็คงเป็นสิ่งที่หลายสื่อกังวลนั่นก็คืออาการบาดเจ็บเพราะหากเขาลงไม่ถึง 65 เกมแล้ว เขาก็คงจะชวดรางวัลนี้ไปอย่างแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เปิดประวัติ วิคเตอร์ เวมบันยามา : เด็กปีศาจว่าที่ดราฟท์อันดับ 1 ปี 2023
อันดับ 2: เช็ต โฮล์มเกรน, ธันเดอร์
สถิติปรีซีซั่น: 16.2 แต้ม, 5.0 รีบาวด์, 1.2 แอสซิต์, 2.0 บล็อก
เนื่องจากฤดูกาลที่แล้วเขาไม่ได้ลงเล่นเลยแม้แต่เกมเดียว ทำให้เขามีสิทธิ์ที่จะได้รับรางวัลในปีนี้
ย้อนกลับไปในปีที่แล้ว หากไม่มีอาการบาดเจ็บ โฮล์มเกรนก็คือตัวเต็งในการได้รางวัลนี้เช่นกัน ด้วยความสูง 7 ฟุต 1 นิ้ว และการเล่นเกมรุกที่หลากหลายพร้อมเกมรับที่เป็นจุดเด่นไม่แพ้เวมบันยามา บวกกับมีสถิติในซัมเมอร์ลีกการันตีตัวเขาด้วยว่าเจ้าตัวมีดีพอที่จะเล่นใน NBA จากสถิติค่าเฉลี่ยที่ทำไป 14 แต้ม, 8.4 รีบาวด์, 2.8 แอสซิสต์, 2.0 สตีล และ 2.8 บล็อก ด้วยการยิงฟิลด์โกลลงไปทั้งหมด 50 เปอร์เซนต์ และ 42 เปอร์เซนต์จากเส้นสามคะแนน
นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเต็งที่จะขึ้นมาแข่งขันกับ วิคเตอร์ เวมบันยามาได้อย่างแน่นอน แต่ด้วยการที่ ธันเดอร์ มีพอยต์การ์ดสายทำแต้มดีกรี All-NBA อย่าง เช กิลเจียส-อเล็กซานเดอร์ อยู่ในทีม ทำให้ยังมีคำถามถึงเรื่องสถิติการทำแต้มของ โฮล์มเกรน ว่าจะมากพอที่จะสู้ เวมบันยามา ได้หรือไม่? เพราะเขาคงไม่ใช่มือทำแต้มอันดับหนึ่งของทีมอย่างแน่นอน และอาจจะทำให้สถิติของเขาไม่ได้พุ่งทะยานเหมือน เวมบันยามา ก็เป็นได้
อีกปัจจัยสำคัญที่อาจจะส่ง โฮล์มเกรน ไปคว้ารางวัลนี้ก็คือการที่เขาช่วย ธันเดอร์ ให้เข้าไปได้ถึงรอบเพลย์ออฟ ซึ่งนี่ก็มีโอกาสไม่น้อยเลยทีเดียวเพราะในฤดูกาลที่ผ่านมาทีมที่ไม่มีเขาสามารถก้าวไปถึงขั้นเพลย์อินได้แล้ว
อันดับ 3: สกู๊ต เฮนเดอร์สัน, เทรลเบลเซอร์ส
สถิติปรีซีซั่น: 13.5 แต้ม, 1.5 รีบาวด์, 5.7 แอสซิต์, 0.5 สตีล
การ์ดสายบู๊สูง 6 ฟุต 2 นิ้วคนนี้มีดีพอที่จะคว้ารางวัลรุกกี้ยอดเยี่ยมแห่งปี ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการเป็นเพลย์เมคเกอร์หรือการทำแต้มจากการไดร์ฟและยิงจากระยะกลาง บวกกับร่างกายที่พร้อมลงเล่นใน NBA แต่ทว่าก็มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้เขาไม่สามารถคว้ารางวัลนี้ได้ในฤดูกาลที่จะถึงนี้
อย่างแรกก็คือการอยู่ทีมเดียวกับ เดเมียน ลิลลาร์ด ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่เขาทั้งสองคนเล่นตำแหน่งเดียวกันนั่นก็คือพอยต์การ์ด แถมทั้งคู่ยังเป็นตัวทำแต้มและต้องการบอลไว้ในมืออีกด้วย นี่จึงอาจจะทำให้สถิติการเล่นของ เฮนเดอร์สัน นั้นไม่เป็นอย่างที่ใจคิดเท่าไหร่นัก ส่วนอีกอย่างที่ตัวเขาไม่ได้มีดีเท่าสามคนก่อนหน้านี้ก็คือเกมรับเพราะเขาจะตกเป็นเป้าหมายของฝั่งตรงข้ามแน่นอนด้วยความสูง 6 ฟุต 2 และการวิ่งผ่านสกรีนที่ไม่ดีเท่าไหร่นักของตัวเขา
อันดับ 4-10
อันดับ | ผู้เล่น | ทีม |
4 | ออร์ซาร์ ธอมป์สัน | พิสตันส์ |
5 | แบรนดอน มิลเลอร์ | ฮอร์เน็ตส์ |
6 | จาเรซ วอล์คเกอร์ | เพเซอร์ส |
7 | เคยอนเต้ จอร์จ | แจ๊ซ |
8 | แคม วิทมอร์ | ร็อคเก็ตส์ |
9 | เอเมน ธอมป์สัน | ร็อคเก็ตส์ |
10 | ซาชา เวเซนคอฟ | คิงส์ |
บทความที่เกี่ยวข้อง : เจาะฟอร์ม สกู๊ต เฮนเดอร์สัน : ตัวเต็งอันดับ 2 ของดราฟท์ปี 2023
บทความที่เกี่ยวข้อง : รู้จักดราฟต์ NBA : คืออะไร? มีกี่รอบ? กฎเป็นอย่างไร?
ติดตามบทความและข่าวสารกีฬาอื่นๆของเรา
Facebook : https://www.facebook.com/TheSportingNewsTH
Instagram : https://www.instagram.com/thesportingnews_th