ดราฟต์อันดับ 1 ไม่เท่ากับแชมป์ : เหตุผลที่สิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 ไม่การันตีแชมป์ใน NBA

Author Photo
Victor Wembanyama, LeBron James, Anthony Davis
(Getty Images)

วิคเตอร์ เวมบันยามา คือดราฟต์อันดับที่ 1 ในปี 2023 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นอนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แล้วสุดท้ายก็ไม่ผิดคาดเลยแม้แต่น้อยที่ทีมอย่าง ซานแอนโทนิโอ สเปอร์ส ผู้ครองสิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 จะคว้าตัวเขาไปและพร้อมที่จะสร้างทีมรอบๆเจ้าเด็กเอเลียนคนนี้เพื่อให้ทีมไปถึงแชมป์

ถูกต้องครับ การคว้าดราฟต์อันดับ 1 มาร่วมทีมนั้น หลายๆคนต่างมองว่านี่เป็นประตูแห่งโอกาสบานใหญ่มากๆที่แฟรนชายส์ของพวกเขาจะสามารถเดินทางไปคว้าแชมป์มาครอบครองจนได้ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าเมื่อผู้เล่นของเขาเติบโตทั้งด้านทักษะฝีมือและจิตใจอย่างเต็มที่

แต่หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของ NBA ที่ผ่านมา ซึ่งเราจะย้อนกลับไปเพียงแค่ 34 ปีล่าสุดหรือตั้งแต่ปี 1990 เท่านั้น ในช่วงเวลานี้มีผู้เล่นดราฟต์อันดับ 1 เพียงแค่ 3 คนเท่านั้นจาก 34 คนที่เป็นผู้เล่นที่ “ดีที่สุด” ของชุดแชมป์ NBA ถูกต้องครับ ทุกคนฟังไม่ผิด มีเพียงแค่ 3 คนเท่านั้นซึ่งนั่นก็คือ แชคีล โอนีล (ดราฟต์ปี 1992), ทิม ดันแคน (ดราฟต์ปี 1997) แบะ เลบรอน เจมส์ (ดราฟต์ปี 2003)

ซึ่งหากเราคำนวนเลขอย่างดิบดีแล้ว ในช่วง 34 ปีล่าสุด ดราฟต์อันดับ 1 ที่พาทีมคว้าแชมป์ด้วยการเป็น “ผู้เล่นที่ดีที่สุด” ของทีมจะมีเพียงแค่ 8.82 เปอร์เซนต์เท่านั้น หรือเราสามารถพูดได้เลยว่าการพาทีมประสบความสำเร็จด้วยดราฟต์อันดับที่ 1 มันไม่ใช่อะไรง่ายๆอย่างที่ใครๆคิดกันเอาไว้

และหากเราย้อนมองกลับไปดูการคว้าแชมป์สามฤดูกาลล่าสุดนั้นก็จะเห็นได้ว่าไม่มีดราฟต์อันดับ 1 คนไหนเลยที่คว้าแชมป์ได้โดยเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดทั้ง มิลวอกี บัคส์ ของ ยานนิส อันเทโทคุมโป (ดราฟต์อันดับ 15) ในปี 2021, โกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส ของ สเตเฟน เคอร์รี (ดราฟต์อันดับ 7) ในปี 2022 และ เดนเวอร์ นักเก็ตส์ ของ นิโคลา โยคิช (ดราฟค์อันดับ 41) ในปี 2023

โดยในบทความนี้เราจะไปหาเหตุผลกันว่าทำไมการได้ดราฟต์อันดับที่ 1 เข้ามาสู่ทีมถึงไม่ได้การันตีความสำเร็จโดยการเป็นแชมป์อย่างที่ใครๆได้คาดหวังกันเอาไว้

เหตุผลที่สิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 ไม่การันตีแชมป์ใน NBA 

Derrick Rose

อาการบาดเจ็บที่คอยรบกวน

นี่เป็นหนึ่งในปัญหาคลาสสิคจริงๆไม่ว่าจะดราฟต์อันดับ 1 หรือดราฟต์อันดับต้นๆของปีไหนๆ ซึ่ง วิคเตอร์ เวมบันยามา ก็คือหนึ่งในนั้นที่หลายต่อหลายสื่อให้ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่น้อยเพราะขนาดตัวที่ดูเหมือนบางเกินไปสักหน่อยสำหรับการเล่นใน NBA ที่อาจจะทำให้เขาเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นได้หากต้องเจอการปะทะหนักๆ

แต่หากจะให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดจริงๆก็มีอยู่หลายเคสเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น เดอร์ริค โรส ดราฟต์อันดับที่ 1 ในปี 2008 ที่เขาสามารถกลายเป็น MVP ที่อายุน้อยที่สุดของลีกไปได้ในปี 2011 แต่ก็ต้องโชคร้ายพบกับอาการบาดเจ็บหลากหลายจุดเนื่องจากสไตล์การเล่นของเขาเอง จนในตอนนี้เขาก็ยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในจุดที่เขาเคยอยู่ได้อีกเลย

หรือจะเป็นอย่างเซนเตอร์ร่างใหญ่อย่าง เกร็ก โอเดน ดราฟต์อันดับ 1 ของปี 2007 ที่ได้รับอาการบาดเจ็บตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นอาชีพจนเขาไม่สามารถที่จะกลับมาลงเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยการเจอกับอาการบาดเจ็บที่รุนแรงและต้องพักรักษาตัวนานเท่าไหร่ การพัฒนาฝีมือของเขาก็จะยิ่งลดน้อยลงไปเท่านั้น ด้วยความที่ลงสนามไม่ได้อย่างต่อเนื่อง การที่เขาจะพัฒนาทั้งทักษะหรือเคมีกับเพื่อนร่วมทีมก็จะยากมากขึ้นไปอีกเช่นกัน 

ส่วนผู้เล่นคนอื่นๆที่เป็นดราฟต์อันดับ 1 แล้วต้องพบกับอาการบาดเจ็บคอยรบกวนตลอดอาชีพ ที่ไม่ใช่สองคนแรกก็อย่างเช่น เหยา หมิง (2002), มาร์เคลล์ ฟอล์ทซ์ (2017) หรืออีกคนหนึ่งก็คือ ไซออน วิลเลียมสัน (2019)

ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบการเล่น, อาการบาดเจ็บเรื้อรัง หรืออะไรก็ตาม แต่นี่คือปัญหาคลาสสิคจริงๆที่จะทำให้ดราฟต์อันดับ 1 ในแต่ละปีไปไม่สุดนั่นก็คืออาการบาดเจ็บนี่เอง

davis-pelicans-ftr.jpg

การสร้างทีมของผู้บริหาร

ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหนแต่บาสเกตบอลก็คือกีฬาประเภททีม และไม่มีวันที่จะกลายเป็นประเภทเดี่ยวอย่างแน่นอน และแน่นอนครับว่า ไม่ว่าผู้เล่นคนนั้นจะเก่งแค่ไหนก็ไม่สามารถแบกทีมขึ้นไปเป็นแชมป์ด้วยตัวคนเดียวอย่างแน่นอนเพราะฉะนั้นอีกสิ่งที่เขาต้องการก็คือเพื่อนร่วมทีมและผู้บริหารทีมที่ดีจริงๆ

การสร้างทีมนั้นจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้เล่นคนหนึ่งที่ทีมได้วางเอาไว้ให้เป็นตัวหลักของแฟรนชายส์ และผู้จัดการทีมกับผู้บริหารจำเป็นต้องตัดสินใจหลายๆอย่างให้ดีที่สุดเพื่อที่จะให้ผู้เล่นของเขาดึงประสิทธิภาพออกมาได้ดีจนสามารถขึ้นไปคว้าแชมป์ให้ได้ 

เราจะยกตัวอย่างจากดราฟต์อันดับ 1 ในปี 2012 อย่าง แอนโทนี เดวิส เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจมากขึ้น ทางด้านของ เดวิส เล่นให้กับ นิวออร์ลีนส์ เพลิแคนส์ มา 7 ปีเต็มๆตั้งแต่เขาเข้าลีก พร้อมกับติด All-Star ไปถึง 6 ครั้ง, ติดทีม All-NBA ไปถึง 3 ครั้ง และติดทีมเกมรับยอดเยี่ยมไปได้อีก 3 ครั้ง แต่ทว่าเขากลับสามารถเข้าเพลย์ออฟได้แค่สองครั้งเท่านั้น และไปไกลมากสุดที่รอบสองในฤดูกาล 2017-18

สุดท้ายแล้ว เดวิส ก็ได้ขอทีมให้เทรดตัวเขาออกไปเพราะเขาต้องการที่จะคว้าแชมป์จนเป็นข่าวดังในช่วงเวลานั้น จนสุดท้ายเจ้าตัวก็ได้ออกไปซบกับ เลบรอน เจมส์ ที่ แอลเอ เลเกอร์ส ในฤดูกาล 2019-20 และคว้าแชมป์แรกของเจ้าตัวมาครอบครองได้ในที่สุด

ถ้าหากทีมสามารถทุ่มเทหรือทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ เดวิส อาจจะไม่อยากออกจากทีมและอาจจะกลายเป็นผู้เล่นที่พา เพลิแคนส์ คว้าแชมป์แรกของแฟรนชายส์ไปก็ได้ แต่ว่าเพื่อความแฟร์กับทีม ส่วนหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ เพลิแคนส์ ไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่พอที่จะสามารถดึงดูดฟรีเอเยนต์เข้ามาสู่ทีมได้ง่ายๆเหมือนกัน 

Kyrie Irving Dallas Mavericks
(NBA Entertainment)

การดราฟต์ที่ผิดพลาด? หรือว่าผู้เล่นไม่ดีพอ?

เราคงต้องยอมรับว่ามีอยู่หลายครั้งที่ทีมทำผิดพลาดเลือกผู้เล่นที่ไม่เก่งจริงเข้ามาในดราฟต์อันดับที่ 1 แต่ทว่าเราก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าในเวลานั้นเขาดีจริงๆเมื่อเล่นอยู่ในมหาลัยหรือในลีกต่างประเทศ

เพื่อความชัดเจน เราจะยกข้อผิดพลาดที่ใหญ่หลวงที่สุดครั้งหนึ่งของ คาวาเลียรส์ ขึ้นมา ซึ่งนั่นก็คือการดราฟต์ แอนโทนี เบนเน็ตต์ เข้ามาด้วยสิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 เราต้องบอกว่าในการเลือกครั้งนี้ ไม่ว่าใครก็คงต้องอ้าปากค้างกันไปตามๆกัน เพราะก่อนหน้าที่จะดราฟต์นั้น ตัวของ เบนเน็ตต์ ก็ไม่ได้เป็นตัวเต็งอันดับ 1 ด้วยซ้ำ แต่เป็นเพียงผู้เล่นที่อาจจะถูกดราฟต์เข้ามาใน 10 อันดับแรกเท่านั้น ซึ่งคนที่สื่อยกให้เป็นเต็งหนึ่งในคราวนั้นก็คือ เนอร์เลนส์ โนเอล เซ็นเตอร์จอมบล็อกของ เคนทักกี ซะมากกว่า

สุดท้ายแล้ว แอนโทนี เบนเน็ตต์ ก็ไม่ได้สร้างอะไรเป็นชิ้นเป็นอันและต้องออกจาก NBA ไปหลังจากเล่นในลีกเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้นด้วยค่าเฉลี่ย 4.4 แต้ม, 3.1 รีบาวด์ และ 0.5 แอสซิสต์ต่อเกม

นอกจากนั้นการดราฟต์ที่ผิดพลาดก็ยังมีให้เห็นเรื่อยๆ และยิ่งเมื่อไหร่ที่มีผู้เล่นดราฟต์อันดับ 2-5 ระเบิดฟอร์มจนเป็นสตาร์ได้ พวกเขาก็จะถูกเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นการดราฟต์ในปี 2018 ที่ฟินิกซ์ ซันส์ เลือก ดีอันเดร เอย์ตัน มาเป็นดราฟต์อันดับ 1 แทนที่จะเป็น ลูก้า ดอนซิช (3), เทร ยัง (5) หรือ จาเรน แจ็คสัน จูเนียร์ (4) มาร่วมทีม 

ทีนี้เราขอขยับจากความผิดพลาดของทีมมาเป็นผู้เล่นที่ไม่ดีพอกันบ้างดีกว่า

จริงๆแล้วเรื่องนี้อาจจะเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลอยู่เหมือนกันว่าดีไม่พอในที่นี้หมายถึงอะไร แต่สำหรับเราในบทความนี้ก็คือ “ดีไม่พอที่จะเป็นมือหนึ่งของทีมแชมป์” นั่นเอง โดยตัวอย่างก็มีอยู่มากมายเต็มไปหมดไม่ว่าจะเป็นทั้ง ไครี เออร์วิง (2011) ที่แม้จะได้แชมป์มาแต่เขาก็เป็นมือสองของ เลบรอน เจมส์ แต่พอเขาออกไปจากร่มเงาของ เจมส์ เจ้าตัวก็ยังไม่สามารถคว้าแชมป์ได้อีกเลย หรือจะเป็นอย่าง แอนดรูว วิกกินส์ (2014) ที่ได้แชมป์กับ วอร์ริเออร์ส ในปี 2022 แต่เขาก็คือมือสามของทีม ไม่ใช่มือหนึ่งแต่อย่างใด แถมช่วงเวลาที่เขาเป็นมือหนึ่งให้ ทิมเบอร์วูล์ฟส์ นั้นก็น่าผิดหวังไม่ใช่น้อย

หากใครกำลังเข้าใจผิด นี่ไม่ใช่การด้อยค่าผู้เล่นแต่เป็นการชี้ให้ทุกคนได้เห็นว่าต่อให้เป็นดราฟต์อันดับ 1 นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะสามารถพาทีมเป็นแชมป์ได้อย่างง่ายดายอย่างที่ใครๆคิดเอาไว้ เพราะมันยังมีองค์ประกอบอีกมากมายกว่าที่ทีมหรือผู้เล่นคนหนึ่งจะสามารถทะยานขึ้นไปเป็นแชมป์ ทั้ง โค้ช, เพื่อนร่วมทีม, ผู้บริหาร หรือ ยุคสมัยการเล่นที่เปลี่ยนไป 

แม้ว่าดราฟต์อันดับ 1 หลายคนจะได้แชมป์โดยที่ไม่ใช่มือหนึ่งของทีม แต่นั่นก็ถือว่าเขาได้ทำหน้าที่ตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว และยังพิสูจน์ได้อีกเรื่องหนึ่งด้วยว่าต่อให้เขาไม่ดีพอเป็นมือหนึ่ง แต่เขาก็ดีพอที่จะช่วยทีมให้คว้าแชมป์ได้สำเร็จ

เพราะฉะนั้นเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า เจ้าหนูร่างยักษ์อย่าง วิคเตอร์ เวมบันยามา นั้นจะกลายเป็นดราฟต์อันดับ 1 แบบไหนในอนาคตกันแน่ ร่วมสมัครทายผลงานของเวมบันยามา ชิงรางวัลกับการแข่งขันNBAได้ที่นี่

อ้างอิงแนวคิดของบทความจาก Youtube ช่อง JJ Redick: https://www.youtube.com/watch?v=Sm4MPUi95ns 

บทความที่เกี่ยวข้อง : เปิดประวัติ วิคเตอร์ เวมบันยามา : เด็กปีศาจว่าที่ดราฟท์อันดับ 1 ปี 2023

บทความที่เกี่ยวข้อง : เจาะลึกความโหด แบรนดอน มิลเลอร์ : ตัวเต็งอันดับ 3 ของดราฟท์ปี 2023

บทความที่เกี่ยวข้อง : เจาะฟอร์ม สกู๊ต เฮนเดอร์สัน : ตัวเต็งอันดับ 2 ของดราฟท์ปี 2023

NBA LEAGUE PASS สมัครเพื่อชมการแข่งขันเอ็นบีเอสดทุกนัดคลิก

ผู้แต่ง
Author Photo
นักวิเคราะห์บาสเกตบอล NBA ของ The Sporting News ผู้เจาะลึกทุกเพลย์การเล่น
LATEST VIDEOS